ม็อบ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ยังปักหลักหน้ายูเอ็น ย้ำ 4 ข้อเรียกร้อง "ตรวจสอบ ศอ.บต.-ยุติโครงการนิคมอุตฯ จะนะ" ประกาศจะไป ประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล 13 ธ.ค.นี้ เพื่อทวงสัญญา 

วันที่ 11 ธ.ค. เมื่อเวลา 17.30 น. ที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” โดย นายรุ่งเรือง ระหมันยะ, นายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำนักปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.สตูล, และน.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหวเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หรือลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ยังคงปักหลักอยู่กับกลุ่มมวลชนที่บริเวณดังกล่าว เป็นไปด้วยความสงบ ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรง 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 13.40 น. ที่ผ่านมา นายรุ่งเรืองและน.ส.ไครียะห์ ได้ร่วมแถลงข่าวทิศทางการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา พี่น้องจะนะถูกจับกุมและถูกแจ้งความดำเนินคดี ฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และช่วงเช้าแจ้งเพิ่มอีก 2 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และขัดขวางการจับกุม รวมทั้งมีเงื่อนไขการปล่อยตัวออกมาแล้วจะไม่กลับมาชุมนุมอีก ซึ่งนั่นเป็นการใช้กฎหมายปิดปากประชาชน ขณะที่เรากำลังพูดถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน กำลังมาทวงสัญญาที่รัฐบาล แต่กลับถูกจับกุมยัดข้อหา นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลควรทำหรือไม่ ในค่ำคืนนั้นรัฐบาลควรส่งคนมาพูดคุยว่า ชาวบ้านมีข้อเรียกร้องอะไร แต่กลับส่งตำรวจควบคุมฝูงชน 2 กองร้อย มาจับกุมชาวบ้าน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เรามาปักหลักอยู่หน้ายูเอ็น เพราะไม่อยากสร้างเงื่อนไขให้ตำรวจมาจับกุมพี่น้องเราเป็นรอบที่ 2

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า อีกสาเหตุที่มาอยู่หน้ายูเอ็น เพราะต้องการใช้พื้นที่ตรงนี้จัดเวทีทุกเย็น นำเรื่องราวความเดือดร้อนของคนจะนะมาสื่อสารทุกๆ วัน ขณะเดียวกัน เพื่อปักหลักรอพี่น้องเครือข่ายที่กำลังตามขึ้นมาจากภาคใต้อีก 100 กว่าชีวิต และคาดว่า จะมีผู้มาสมทบประมาณ 300-500 คน ทั้งนี้ ในวันที่ 13 ธันวาคม เราจะเก็บข้าวของ เดินไปที่ประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล จนกว่าจะได้คำตอบ แต่หากเจ้าหน้าที่ดักระหว่างทางตรงไหน ก็จะหยุดตรงนั้น และเพื่อป้องกันการถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทางกลุ่มฯ จะทำหนังสือเชิญยูเอ็น,กสม., กรรมาธิการฯ ส.ส.ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน มาร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย

...

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ทางกลุ่มขอย้ำ 4 ข้อเรียกร้อง คือ 1. รัฐบาลต้องตรวจสอบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อีกครั้ง 2. รัฐบาลจะจัดให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน เพื่อให้มีข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจเดินหน้าหรือยุติโครงการต่อไป 3. รัฐบาลต้องยุติการดำเนินการทั้งหมดไว้ก่อนจนกว่าจะดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 แล้วเสร็จ และ 4. รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นทั้ง 37 คน ที่เกิดจากการสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล

“ต้องการหาทางออกความขัดแย้งด้วยกระบวนการ แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เราไม่เคยยืนกระต่ายขาเดียวว่าโครงการนี้ต้องหยุด แต่เราเสนอว่าจะทำต่อหรือยกเลิก เอาเหตุผลทางวิชาการมาเป็นตัวตัดสินได้หรือไม่ ใช้นักวิชาการที่มีความชำนาญแต่ละเรื่อง และมี 3 ด้านที่ควรศึกษา คือด้านสิ่งแวดล้อม, สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐศาสตร์ จากนั้นเอาข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจให้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ สิ่งที่เราอยากได้วันนี้ไม่ใช่เอ็มโอยู อีกต่อไป เราได้ทำร่างกระบวนการ SEA ไว้ให้ท่านแล้ว ร่างนี้ถูกรับรองจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่ จ.สงขลา หากมีการตกลงในขั้นหลักการ นายกรัฐมนตรีสามารถเซ็นแต่งตั้งคำสั่งนี้ พวกผมกลับบ้านเลย แต่ถ้าไม่เซ็น ไม่มีกำหนดกลับ จะนั่งอยู่จนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ” นายสมบูรณ์ กล่าว

ด้านน.ส.ไครียะห์ กล่าวว่า จากการกระทำของรัฐบาลเป็นปรากฏการณ์ว่า รัฐบาลชุดนี้ทำสัญญากับใครมั่วๆ และถ้าใครมาทวงสัญญาก็สลายการชุมนุมแบบนี้ แต่จำเอาไว้ว่า "จะนะ" จะเป็นบทเรียนให้กับคุณว่า คุณไม่สามารถทำแบบนี้กับใครได้อีก ฉะนั้นขอเชิญชวนคนที่ได้รับผลกระทบจากที่รัฐบาลชุดนี้ไปทำเอ็มโอยูด้วย ให้ออกมาเดินเคียงข้างกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 ธันวาคม เวลาประมาณ 13.00 น.