ม.เกษตรฯ แถลงข่าวตั้งฉายาสถาบันทางการเมืองครั้งที่ 2 เปรียบรัฐบาลเป็น "ปูอบวุ้นเส้น" ให้พรรคเพื่อไทยได้ฉายา "นักประดาน้ำ" ขณะวาทะแห่งปีเป็น "เอาอยู่" ตามคาด...

วันที่ 26 ธ.ค. นายจักรพล บัวโฮม ประธานชุมนุมรัฐศาสตร์สโมสรนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงข่าวการตั้งฉายาสถาบันทางการเมือง ครั้งที่ 2 ประจำปี 2554 โดยให้ฉายารัฐบาลชุดนี้เป็น "ปูอบวุ้นเส้น" เนื่องมาจากมวลชนที่ให้การสนับสนุนรัฐบาล พยายามเรียกตัวเองว่า เป็นไพร่ จึงเปรียบเหมือน วุ้นเส้น ที่เล็กกว่า เส้นหมี่ แต่มีความเหนียวแน่นในการรวบ และตัวชี้วัดความอร่อยของอาหารจานนี้อยู่ที่วุ้นเส้น ไม่ใช่ปู เพราะปูอาจถูกแทนที่ด้วยกุ้งหรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่นได้

ขณะที่รัฐสภาได้ฉายาว่า "สภาจิ้งหรีด" เพราะมุ่งเถียงกัน แต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง พรรคเพื่อไทยได้ฉายา "นักประดาน้ำ" เพราะแทนที่จะมีบทบาทช่วยเหลือประชาชนประสบภัยน้ำท่วม กลับฉวยโอกาสเรื่องของบริจาคที่ ศปภ. ประหนึ่งเป็นนักประดาน้ำ อาศัยช่วงน้ำหลากขับเคลื่อนวาระแอบแฝง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ฉายา "หล่อรอเสียบ" จุดขายหลักของพรรคประชาธิปัตย์มายาวนานคือ เรื่องความหล่อ ทั้งรูปร่างหน้าตา และคำพูดคำจา แต่ลงเลือกตั้งคราวใดมักแพ้ จึงรอเสียบด้วยสารพัดเทคนิควิธี การเล่นการเมืองแบบคาบลูกคาบดอก

พรรคภูมิใจไทย ได้ฉายาว่า "ห้อยตกบัลลังก์" เพราะแม้พรรคภูมิใจไทยจะอุดมด้วยกระสุน วาดฝันจะเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง แต่ได้รับเลือกเพียง 34 คน และต้องตกบันไดไปเป็นฝ่ายค้าน

ส่วนกองทัพได้ฉายา "อัศวินม้าหงอย" ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กองทัพเปรียบเสมือนม้าที่ได้หญ้าดีน้ำดี มีอัศวินผู้ขี่รู้ใจ ม้าจึงคึกคะนอง กระโดดโลดเต้นอยู่เสมอ แต่พอเปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทย กองทัพเสมือนม้าขาดหญ้าขาดน้ำ ได้อัศวินที่เป็นคู่อาฆาต ต้องอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว

ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ฉายา "พระเอกตอนจบ" ช่วงอุทกภัยการถอดชุดเครื่องแบบ เปลี่ยนเป็นเสื้อยืดคอกลมสีขาวสกรีนตัวอักษร "ตำรวจ" กับกางเกงขาสั้น แสดงถึงการเข้าอกเข้าใจ เป็นมิตร ขณะเดียวกัน ยังมีสำนึกในหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนเป็นที่นิยมชมชอบ กลายเป็นแฟชั่นระบาดไปทั่วเมือง สมกับเป็นพระเอกตอนจบ

ส่วน กทม. (กรุงเทพมหานคร) ได้ฉายา "หม้อไฟต้มยำ" เพราะ กทม. กับ ศปภ. ทะเลาะกัน แต่ชาวบ้านเดือดร้อน และ ศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย) ได้รับฉายาว่า "ศูนย์ปิดบังภัยพิบัติ" เพราะปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลที่แท้จริง ขณะที่วาทะแห่งปียังเป็นคำฮิตที่มาจากสถานการณ์น้ำท่วมเช่นกัน คือ "เอาอยู่".

...