ศบค. เผย 2 หญิงไทยกลับจากไนจีเรีย ตรวจพบติดเชื้อโควิด พบมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโอมิครอน เร่งถอดรหัสพันธุกรรมยืนยันสายพันธุ์ ลุ้น อาจเป็นรายที่ 2 และ 3 ของไทย

วันที่ 8 ธ.ค. 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หรือ โอไมครอน (Omicron) รายที่ 2 และ 3 ของประเทศไทย

หญิงไทย อายุ 46 ปี อาชีพล่าม ประจำคริสตจักรแห่งหนึ่ง และยังไม่เคยได้รับวัคซีน รายที่สอง หญิงไทยอายุ 36 ปี อาชีพล่าม ประจำคริสตจักรแห่งหนึ่งเช่นกัน ยังไม่ได้รับวัคซีน แต่ช่วงเดือน ก.ค. เคยติดเชื้อโควิด-19 รักษาตัวที่โรงพยาบาลบุษราคัม โดยเดินทางเข้าร่วมประชุมตัวแทนคริสตจักร เป็นคนไทย 3 คน ไปรวมตัวกับคณะที่เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 20 คน โดย 2 คนกลับไทย อีกคนเดินทางต่อไปประเทศสวีเดน และตรวจพบเชื้อโควิด-19 เช่นกัน

สำหรับไทม์ไลน์มีดังนี้

21 พ.ย. 2564 ก่อนเดินทางกลับจากไนจีเรียได้ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ผลเป็นลบทั้ง 3 คน

23 พ.ย. 2564 หญิงอายุ 46 ปี เริ่มมีอาการ ไอ เจ็บคอเล็กน้อย

24 พ.ย. 2564 เวลา 08.30 น. หญิงไทย 2 ราย เดินทางกลับถึงไทยด้วยเที่ยวบิน QR803 เข้าพักที่ ASQ โรงแรมแห่งหนึ่ง และผลตรวจ RT-PCR เป็นบวกทั้งคู่

25 พ.ย. 2564 จึงเข้ารับการรักษาที่ Hospitel และได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยหญิงอายุ 36 ปี เริ่มมีอาการ ไอ เจ็บคอเล็กน้อย โดยรักษาอยู่จนถึงวันที่ 5 ธ.ค. 2564

26 พ.ย. 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเรื่องสายพันธุ์โอมิครอน เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล

...

ทั้งนี้ แพทย์จึงมีการนำตัวอย่างเชื้อของทั้ง 2 รายนี้ซึ่งเดินทางมาจากทวีปแอฟริกามาตรวจเพิ่มเติม “ผลออกมาว่ามีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะติดเชื้อโอมิครอน” โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อจะยืนยันว่าเป็นโอมิครอน วึ่งผลจะออกภายใน 1-2 วันนี้

สำหรับการสอบสวนโรคพบว่า ทั้งคู่ทำกิจกรรมและไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงยังไม่ได้รับวัคซีน จึงมีความเสี่ยงติดเชื้อสูง รวมถึงสอบสวนไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิดของทั้ง 2 รายด้วย จะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป และปัจจุบันทั้ง 2 รายอยู่ระหว่างการคุมสังเกตอาการเพิ่มเติมอีก 7 วัน

ขณะที่ผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรกที่พบในไทยนั้น ล่าสุดผลการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำทุกคนไม่พบติดเชื้อโควิด.