สื่อมวลชน ตั้งฉายาสถานการณ์และบุคคลทางการเมือง รวมทั้งวาทะเด็ด จัดนายกฯปูเป็น "ดาวดับ" เหตุหนีสภาบ่อย ขณะยังไม่พบผู้มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ "คนดีศรีสภา 2554"...

สื่อมวลชนภาคการเมืองร่วมกันสรุปสถานการณ์ และตั้งฉายาบุคคลทางการเมืองประจำปี 2554 โดยรวบรวมตั้งแต่การประชุมแถลงนโยบายครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไล่เรียงตามลำดับเวลาต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็นทั้งหมด 11 หัวข้อ รวมทั้งตัวบุคคล และสถานการณ์เข้าด้วยกัน มีทั้งความผิดพลาดในการประชุมรัฐสภาตั้งแต่วันแรกของการเริ่มทำงาน วาทะเด็ด ฉายาวุฒิสภา ฯลฯ โดยเริ่มจาก


1. เหตุการณ์แห่งปี : องค์ประชุมรัฐสภาล่มวันแถลงนโยบายของรัฐบาล
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางดึก เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2554 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการแถลงนโยบายของรัฐสภาต่อที่ประชุมรัฐสภา สืบเนื่องมาจากการที่ ส.ส.ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จนนำมาสู่การประท้วงอย่างวุ่นวาย ส่งผลให้ต้องพักการประชุมนานถึง 40นาที ต่อมา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา สั่งให้นับองค์ประชุมถึง 2 ครั้งก่อนลงมติว่า จะปิดการอภิปรายตามที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เสนอหรือไม่ โดยครั้งสุดท้ายมีองค์ประชุมเพียง 314 ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จำนวน 325 เสียง จึงสั่งปิดประชุมในเวลา 23.27 น.และนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค.เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องอย่างร้ายแรงของฝ่ายนิติบัญญัติ เนื่องจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะก่อนที่รัฐบาลจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาก่อน อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงในรัฐสภามากถึง 300 เสียง แต่กลับไม่สามารถควบคุมองค์ประชุมได้

...


2. วาทะแห่งปี : “คำวินิจฉัยประธานถือเป็นที่สิ้นสุด จะผิดหรือถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
มาจากคำพูดของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2554 ระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการแถลงนโยบายของรัฐบาล เพื่อชี้แจงต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กรณีการทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อวินิจฉัยในประเด็นที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้อภิปรายพาดพิงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างนั้นเหตุการณ์เป็นไปอย่างตึงเครียดจนท้ายที่สุด นายสมศักดิ์ใช้อำนาจวินิจฉัยด้วยคำพูดว่า... "ผมฟังอยู่ ไม่ได้หมายถึงอย่างนั้นครับ ท่านครับ ท่านสมาชิกครับ ผมขออนุญาตนิดเดียวครับ ข้อบังคับที่พวกเราร่างขึ้นมาเป็นกติกาให้อำนาจประธานเป็นผู้วินิจฉัย แล้วถือว่าเป็นเด็ดขาด ส่วนผิดหรือถูกอีกเรื่องหนึ่งครับ ผมถือว่าผมวินิจฉัยแล้วต้องเป็นเด็ดขาดครับ ไม่อย่างนั้นมันจบไม่ได้ครับ" (รายงานการประชุมรัฐสภาสามัญทั่วไปวันที่ 23-24 ส.ค.2554 หน้า 740) คำพูดดังกล่าวได้สะท้อนถึงบุคลิกการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ ที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของประธานควบคุมการประชุมตามข้อบังคับที่เป็นลายลักษณ์อักษร


3. ฉายาสภาผู้แทนราษฎร : กระดองปูแดง
การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อเดือน ก.ค.2554 ทำให้พรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากในสภาฯ รวมทั้งมีแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง เข้ามาดำรงตำแหน่ง ส.ส. มากกว่า 20 คน แต่การทำงานของสภาฯภายใต้เสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทย กลับให้ความสำคัญกับการปกป้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้มีอีกสถานะหนึ่ง คือ น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยทุกครั้งในการประชุมสภาฯหรือรัฐสภา หากมีการพาดพิงถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวชินวัตร ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็จะถูก ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนมากลุกขึ้นตอบโต้อย่างดุเดือด จนการประชุมสภาฯต้องหยุดชะงักหลายครั้ง ดังนั้น สภาฯชุดที่ 24 ภายใต้เสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทย ที่มักอ้างเสมอว่ามีมวลชนคนเสื้อแดงกว่า 15 ล้านเสียงสนับสนุน จึงเปรียบเสมือนเป็นกระดองสีแดงปกป้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีชื่อเล่นว่า "ปู"


4. ฉายาวุฒิสภา : สังคโลก
บทบาทของวุฒิสภาในช่วงที่ผ่านมา สังคมต่างให้ความเชื่อมั่น พร้อมกับคาดหวังไว้สูงว่าจะปฏิบัติหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อกำกับและดูแลการทำงานของสภาฯและกลั่นกรองกฎหมาย แต่การทำงานในรอบปีที่ผ่านมา วุฒิสภากลับไม่มีบทบาทเป็นที่ประจักษ์ ทั้งที่ล้วนมาจากบุคคลที่มีความอาวุโส มากประสบการณ์ จากหลากหลายสาขาอาชีพ เปรียบเสมือนเครื่องสังคโลก วัตถุโบราณที่มีคุณค่าในตัวเองทุกคนล้วนต้องการเสาะแสวงหาเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ แต่กลับไม่สามารถใช้งานได้จริง เพราะมีคุณค่าเพียงแค่เครื่องประดับเท่านั้น


5. ฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร (สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) : ค้อนปลอม ตราดูไบ
เดิมนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ได้รับฉายาว่า “ขุนค้อน” เมื่อครั้งเป็นรองประธานสภาฯเมื่อปี 2540 เพราะได้ใช้ค้อนทุบลงบัลลังก์ เพื่อแสดงความเด็ดขาดในการควบคุมการประชุม และก่อนได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาฯ นายสมศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต่างประเทศ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ไปเสนอตัวจนได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯสมใจ เมื่อได้มาทำหน้าที่ควบคุมการประชุม ก็ถูกโจมตีอย่างหนักถึงความไม่เป็นกลางที่เอื้อต่อพรรคเพื่อไทย ทั้งในเวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการอภิปรายทั่วไปเรื่องปัญหาน้ำท่วม กระทั่งถูกกล่าวหาขั้นรุนแรงว่า รับใบสั่งจากนายใหญ่ดูไบ ทำให้ภาพของขุนค้อนผู้หนักแน่น เด็ดขาด เป็นกลาง ตกต่ำลง จึงเป็นที่มาของฉายา “ค้อนปลอม ตราดูไบ” ในที่สุด


6. ฉายาประธานวุฒิสภา (พล.อ.ธีรเดช มีเพียร) : นายพลถนัดชิ่ง
พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา แม้ว่าจะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง หลังจากได้รับการสรรหาเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่นับเป็นบุคคลที่สังคมให้การจับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเคยผ่านตำแหน่งสำคัญ ทั้งในกองทัพและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมาแล้ว อาทิ ปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่จากบทบาทที่ผ่านมา พล.อ.ธีรเดช ไม่ได้แสดงบทบาทตามที่เคยแสดงวิสัยทัศน์ในการชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ไม่เพียงเท่านี้ ยังเลี่ยงตอบคำถามเพื่อแสดงความคิดเห็นในเหตุการณ์ต่างๆ มักอ้างว่า “ผมจำไม่ได้” “ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ต้องไปถามผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง” เหมือนชิ่งตัวเองออกจากปัญหา ทั้งที่ควรจะแสดงบทบาทให้เข้มแข็ง และเด็ดขาดสมกับเป็นอดีตนายพลในกองทัพ


7. ดาวเด่น : รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์
การทำงานของ น.ส.รังสิมา นับตั้งแต่เป็น ส.ส. มีความเสมอต้นเสมอปลาย โดยเฉพาะการสวมบทมือปราบ ส.ส.นอกแถว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การเปิดโปง ส.ส.ที่ชอบเสียบบัตรแสดงตนแทนกัน การขอให้ประธานสภาฯควบคุมการประชุมให้มีความเป็นกลาง หรือแม้กระทั่งขอความร่วมมือ ส.ส.ไม่ให้ประชุมคณะกรรมาธิการในช่วงวันพุธหรือวันพฤหัสบดี ซึ่งตรงกับวันประชุมสภาฯเพราะมีผลให้องค์ประชุมสภาฯเสี่ยงต่อการล่มหลายครั้ง บทบาทเหล่านี้ น.ส.รังสิมาได้ประพฤติปฏิบัติมาตลอด โดยไม่คำนึงถึงว่า ช่วงเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล


8. ดาวดับ: ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร หนึ่งในอำนาจอธิปไตยของประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องตัดขาดกับงานฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสิ้นเชิง ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงท่าทีถึงการไม่ให้ความสำคัญกับรัฐสภาหลายครั้ง ทั้งที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า พร้อมจะให้ความร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อร่วมนำพาประเทศผ่านพ้นปัญหาต่างๆ สร้างความหวังให้กับสังคม ไม่ต่างอะไรกับการเป็นดาวเด่นในทางการเมืองภายหลังประสบความสำเร็จจากการบริหารธุรกิจของครอบครัวชินวัตร สำหรับพฤติกรรมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงออกจนนำมาซึ่งคำครหาว่า "หนีสภา" หลายต่อหลายครั้ง เช่น การไม่แสดงบทบาทนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้ามาไกล่เกลี่ยระหว่าง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งต่างกับอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนก่อนหน้านี้ พยายามจะเข้ามาเป็นตัวกลางสร้างความประนีประนอมให้กับทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อให้งานสภาฯเดินหน้าไปได้ หรือการมอบหมายให้รัฐมนตรี หรือรองนายกฯเป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดแทนการตอบด้วยตัวเองหลายครั้ง ท่ามกลางข้อสงสัยว่า เป็นการมอบหมายให้บุคคลอื่นชี้แจงแทนมากเกินความจำเป็นหรือไม่ ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับตำแหน่งดาวดับไปโดยปริยาย


9. คู่กัดแห่งปี: อรรถพร พลบุตร vs จตุพร พรหมพันธุ์
การประชุมสภาฯ มีหลายครั้งที่เกิดวิวาทะระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างกรรมต่างวาระ และต่าง คู่กรณี แต่การฟาดฟันระหว่างนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต้องยกให้เป็นมวยคู่เอกทุกครั้งไป เนื่องจากเมื่อใดก็ตามที่ทั้ง 2 คนนี้ เชือดเฉือนคำพูดกัน ได้เป็นชนวนก่อให้เกิดเหตุประท้วงกันแบบบานปลาย ระหว่างส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งส่วนใหญ่ประเด็นที่ทั้ง 2 คน มักจะโต้คารมกัน คือ การพาดพิงถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี


10. คนดีศรีสภา : งดการเสนอชื่อบุคคล
สำหรับตำแหน่งคนดีศรีสภา สื่อมวลชนประจำรัฐสภามีความเห็นร่วมกัน ยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมกับการได้รับตำแหน่งดังกล่าว ถึงแม้จะมี ส.ส.และ ส.ว.หลายคน แสดงบทบาทการเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม หรือการแสดงออกผ่านการร่วมประชุมรัฐสภาในวาระต่างๆ แต่ทว่ายังไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนใดแสดงผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างเห็นได้ชัด สื่อมวลชนประจำรัฐสภาจึงความเห็นร่วมกัน ของดการมอบตำแหน่งคนดีศรีสภาประจำปี 2554 ออกไป


11. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) : หล่อดีเลย์
ด้วยบทบาทของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ หลังจากแพ้การเลือกตั้งกลับมาเป็น นายกฯอีกสมัยไม่สำเร็จ แม้จะพยายามทำหน้าที่ชี้แนะตรวจสอบรัฐบาลถึงปัญหาน้ำท่วม นโยบายด้านต่างๆ รวมถึงการเสนอทางออกเพื่อความปรองดอง แต่ไม่สามารถวิจารณ์ได้เต็มปาก เนื่องจากถูกย้อนศรจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในสมัยนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ไม่ว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมก่อนหน้านี้ หรือ การเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม จนเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ในตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง จึงถูกวิจารณ์ว่า เหตุใดไม่แก้ปัญหาอย่างที่ได้พูดเอาไว้ตั้งแต่เป็นนายกฯ กลายเป็นที่มาของ “หล่อดีเลย์”