ไทยสร้างไทย กังวล ไทยอาจถูกเดียวดายเวที หลังรัฐบาลแสดงความไม่พอใจ บทบาท Amnesty International เปรียบ “ถอยหลังตกหน้าผา ที่ไม่อาจจะปีนกลับขึ้นมาได้”
วันที่ 2 ธ.ค. นายกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตสะพานสูง และคณะทำงานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลไทย ที่แสดงความไม่พอใจต่อบทบาทของ Amnesty International อ้าง มีการเคลื่อนไหวที่กระทบต่อการเมืองภายในของไทยว่าสวนทางหลักทางการทูตโลกที่มุ่งเน้นสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม เพราะหากไทยยังคงรูปแบบงานการต่างประเทศ โดยอ้างการปกป้องผลประโยชน์ชาติ บนแนวคิดความมั่นคงกระแสหลัก ประเทศไทย อาจถูกเดียวดายจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในเวทีโลก และเกิดผลลบต่อความร่วมมือระหว่างประเทศได้
สะท้อนจากบทบาทของรัฐบาลที่ไม่คำนึงถึงความจำเป็นของระบบพหุภาคีระหว่างประเทศ แต่มุ่งเน้นการดำเนินการทางการทูตแบบทวิภาคี และอนุรักษนิยม โดยยึดหลักการให้ความสำคัญต่อการป้องกันความมั่นคงแห่งรัฐ มากกว่าการคำนึงถึงหลักการอยู่ร่วมกันบนความเท่าเทียมและเสมอภาค
ดังนั้น การที่รัฐบาลปัจจุบันได้ส่งสัญญาณทางลบต่อการออกมาเคลื่อนไหวของ Amnesty International จึงย้ำถึงระบบทางการทูตของไทย ที่หยั่งรากลึกควบคู่ไปกับการนำความมั่นคงกระแสหลัก คือการป้องกันประเทศ มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาการวางท่าทีของไทยในเวทีโลก
"ความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศไทยในการวางท่าทีและแนวทางทางการทูตในศตวรรษที่ 21 ที่ควรดำเนินการตามวัฏจักรงานด้านสิทธิมนุษยชน คือ แสวงหา เคารพ คุ้มครอง และพัฒนา เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่า งานการทูตคือการแสวงหาจุดร่วมระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ ในความสัมพันธ์นั้นๆ และเมื่อประเทศต่างๆ พิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้รับแล้วต้องเคารพในหลักเกณฑ์ โดยการสร้างความคุ้มครองความสัมพันธ์ต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์นั้นให้เจริญมากขึ้น"
...
นายกัณวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าไทยเป็นประเทศที่กำลังก้าวไปสู่ระดับกลางในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการที่ไทยจะได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการอิงวัฏจักรดังกล่าวที่ได้ถูกยอมรับในระบบพหุภาคีระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและรวมถึงงานมนุษยธรรมที่ได้ถูกยอมรับอย่างกว้างขวาง ประเทศไทยจึงต้องมีความพยายามสอดแทรก และหาโอกาสในการเป็นผู้นำในกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ และเป็นพัฒนาการที่ควรจะเป็นของการทูตไทย
ดังนั้น การแสดงท่าทีของรัฐบาลไทย โดยการนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการแสดงความไม่พอใจ ต่อองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่าง Amnesty International ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการดำเนินงานตามระบบพหุภาคีด้านสิทธิมนุษยชน จึงเปรียบเสมือนการถอยหลังตกหน้าผา ที่ไม่อาจจะปีนกลับขึ้นมาได้
"แทนที่องค์กรอิสระของไทย อย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำในการประสานหารือพูดคุยถึงความเป็นมาเป็นไปต่างๆ รัฐบาลไทยกลับแสดงท่าทีอย่างรวดเร็วและรุนแรง ต่อองค์กรที่ดำเนินงานตามอาณัติระหว่างประเทศที่มีอยู่ จึงมีความกังวลว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ไทยจะถูกเดียวดายในเวทีระหว่างประเทศและจะพลาดโอกาสต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ และได้เกิดขึ้นแล้วในเวทีการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (The Summit for Democracy) ที่ประเทศไทยไม่ได้ถูกรับเชิญ" นายกัณวีร์ กล่าว