ศบค. เน้นย้ำการปรับมาตรการรับผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาของ สธ. ป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอน เล็งทบทวน อาจไม่เปลี่ยนการตรวจจาก RT-PCR เป็น ATK

วันที่ 29 พ.ย. 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล โดยกล่าวในช่วงหนึ่งถึงกรณีโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) B.1.1.529 ที่มีรายงานการพบเชื้อยืนยันในทวีปแอฟริกา ว่า ขณะนี้หลายประเทศในยุโรปมีรายงานแล้ว ทั้ง อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก และล่าสุดคือเดนมาร์ก โดยเป็นพบเชื้อจากประชาชนที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศแอฟริกา ส่วนเอเชียพบแล้วที่ฮ่องกง และอิสราเอล รวมถึงออสเตรเลีย ก็มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการประชุมวาระฉุกเฉินวานนี้ (28 พ.ย.) เรื่องการพิจารณาปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรให้สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีการปรับมาตรการแล้ว อีกทั้งสืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) มีความเป็นห่วงสายพันธุ์กลายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งมีรายงานว่าแพร่กระจายเร็วยิ่งกว่าสายพันธุ์เดลตา แม้จะยังไม่มีการรายงานเรื่องความรุนแรง แต่ย้ำว่าในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุและมีโรคประจำตัวถือว่ามีความเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง และเน้นย้ำว่าปัจจัยสำคัญในการเกิดเชื้อกลายพันธุ์มักจะเป็นประเทศที่มีประชากรได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ ขณะที่ สธ. ย้ำว่าหากไม่รีบรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด เราก็อาจจะเป็นประเทศหนึ่งที่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อได้

ในส่วนของข้อมูลผู้เดินทางจากประเทศแถบแอฟริกาใต้มายังไทย ตั้งแต่วันที่ 1-27 พ.ย. 2564 รวม 12 ประเทศ ยอดผู้เดินทางสะสม 1,007 ราย โดยทุกคนมีผลตรวจ RT-PCR ในวันที่เดินทางถึงไทยเป็นลบ เป็นการตอกย้ำว่ามาตรการสาธารณสุขในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ รวมถึงตรวจซ้ำเมื่อถึงไทย ซึ่งการที่ยังคงมาตรการเหล่านี้ถือเป็นการคัดกรองตรวจจับเชื้ออย่างประสิทธิภาพ ซึ่งในส่วนที่ประชาชนและสถานประกอบการยังตั้งคำถามว่าทำไมยังต้องเข้มงวดขนาดนี้ นี่คงเป็นคำตอบได้ดีว่าการที่ตรวจพบเชื้อได้รวดเร็วจะทำให้ไม่เกิดการแพร่กระจายไปยังชุมชน

...

สำหรับการปรับมาตรการเข้าราชอาณาจักรสำหรับผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. เป็นต้นไป ผู้ที่มีประวัติพำนักหรือเดินทางไปยัง 8 ประเทศ ประกอบด้วย 1. บอตสวานา 2. เอสวาตินี 3. เลโซโท 4. มาลาวี 5. โมซัมบิก 6. นามิเบีย 7. แอฟริกาใต้ และ 8. ซิมบับเว ในช่วง 21 วันก่อนเข้าไทย ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนขอเข้าไทย ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนไปแล้วล่วงหน้าต้องเข้าสู่การกักตัว 14 วัน และตรวจ RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง และหลังวันที่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไป ห้ามไม่ให้เข้าประเทศไทย ยกเว้นเฉพาะผู้มีสัญชาติไทย

ขณะที่ผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา นอกเหนือจาก 8 ประเทศข้างต้น โดยมีประวัติหรือเดินทางไปทวีปแอฟริกา ใน 21 วัน เข้าประเทศไทยภายใต้เงื่อนไข Sandbox และการกักตัวเท่านั้น โดยผู้ที่เดินทางมาถึงไทยตั้งแต่ 6 ธ.ค. ต้องกักตัว 14 วันและตรวจ RT-PCR จำนวน 3 ครั้งเช่นกัน กรณีผู้ที่เดินทางมาตั้งแต่ช่วง 15 พ.ย. - 5 ธ.ค. 2564 ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามอาการคนกลุ่มนี้ให้ครบ 14 วัน หากมีอาการให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR นอกจากนี้ ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. เป็นต้นมาด้วย ซึ่งกลุ่มนี้เกือบ 200 ราย สามารถติดตามได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีการทบทวนการประเมินนักท่องเที่ยวเมื่อมาถึงไทยว่าจะมีการตรวจโดยใช้ ATK ซึ่งที่ประชุม สธ. ล่าสุดขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะคงการตรวจ แบบ RT-PCR ถึงวันที่ 16 ธ.ค. แต่จะเปลี่ยนเป็น ATK หรือไม่ต้องติดตามเนื่องจากอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้.