นักการเมือง (ที่ไม่ดี) “บ่อเกิด” คอร์รัปชัน? ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวไว้ว่า “คอร์รัปชันทางการเมือง”...เป็นคอร์รัปชันที่เลวร้ายที่สุดของประเทศไทยขณะนี้ เพราะโกงกันเป็นเครือข่าย มีการใช้ทั้ง “อำนาจรัฐ” และ “อิทธิพล”
ทำให้เกิดความเสียหายวงกว้างและเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดคอร์รัปชันอื่นตามมาอีกมาก
ข้อแรก...“ประเด็นอำนาจ” ซึ่งในระบบรัฐสภานักการเมืองในรัฐสภามีอำนาจหน้าที่สำคัญ 4 ประการ...กำหนดนโยบายของรัฐผ่านการออกกฎหมายและให้ความเห็นชอบนโยบายของรัฐบาล, กำหนดงบประมาณในการบริหารและการลงทุนของประเทศ
แต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงคือนายกรัฐมนตรีและให้การรับรองเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรสำคัญของรัฐ, ใช้อำนาจของสภาฯ กมธ. และตัว ส.ส. เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ
...
ข้อสอง...นอกจากใช้อำนาจตามกฎหมายแล้วนักการเมืองยังทำเรื่องอื่นอีกมากโดยใช้อิทธิพลและเครือข่ายจากตำแหน่งหน้าที่ของตน ดังนั้น...หากผู้ใดไร้ความรับผิดชอบ ย่อมสร้างหายนะให้กับบ้านเมืองได้ตลอดเวลาและด้วยเครือข่ายโยงใยของนักการเมือง ทำให้พวกเขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกลไกทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างมีนัย
ข้อสาม...“ข้าราชการ” มักถูกจูงใจให้ร่วมมือกับนักการเมืองเพื่อความก้าวหน้า มั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ หรือเพื่อรายได้ที่ดีกว่า การได้รับความร่วมมือจากข้าราชการมีความจำเป็นมากเพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ง่าย มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายที่นักการเมืองต้องการแต่ตัวเองทำไม่ได้...
แถมยังช่วยปกปิดข้อมูลความผิดให้ได้ น่าสนใจว่า...ด้วยอำนาจทั้ง 4 ประการข้างต้น บวกด้วยอิทธิพลของนักการเมืองเมื่อรวมกับความร่วมมือของข้าราชการ...เครือข่ายผลประโยชน์อื่น การ “คอร์รัปชัน” แต่ละครั้ง (ถ้าเกิดขึ้น) จึงสร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
รายงาน ดัชนีคอร์รัปชันไทย 2564 ชี้ว่า...สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดคอร์รัปชัน 3 อันดับแรกคือ ความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย... กฎหมายเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต และกระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใส...ตรวจสอบยาก
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเล็กๆแต่เป็นเรื่องใหญ่...สร้างศูนย์ราชการ “ส่วนต่อขยาย” กลิ่นไม่ดี งบ 30,000 ล้านบาท “ล็อกสเปก” หรือเปล่า? ที่มาที่ไปมาจากเสียงร้อง “ผู้รับเหมาก่อสร้าง” ที่สะท้อนมุมมองถึงโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ โซน c (อาคารด้านทิศใต้) มูลค่า 30,000 ล้านบาท
ว่ากันว่า...ส่งสัญญาณแปลกๆว่ามีการ “ล็อกสเปก” เอื้อประโยชน์ให้ “บริษัทยักษ์ใหญ่” ?
จากมติ ครม.วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด่วนที่สุด ที่ นร 0505/38631 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 อนุมัติในหลักการโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน C ของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) สังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
เพื่อให้หน่วยราชการเข้าใช้พื้นที่เป็นสำนักงานแทนการเช่าพื้นที่เอกชนช่วยลดภาระงบประมาณ และเป็นการสร้างรายได้ให้รัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงาน...การให้บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวก ตลอดจนเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในศูนย์ราชการฯให้เต็มศักยภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด
แต่แล้ว...เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ได้ประกาศร่างขอบเขตของงาน หรือ TOR (Term of Reference)
รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ หรือแบบรูปรายการงานก่อสร้างอาคาร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เลขที่โครงการ 641 072 065 22 ว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอ” ต้องมีผลงานก่อสร้างอาคารสำนักงานที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 2,250,000,000 บาท (สองพันสองร้อยห้าสิบล้านบาทถ้วน)
พร้อมแสดงสำเนาสัญญาจ้างด้วย โดยผลงานดังกล่าวจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
หนึ่ง...เป็นผลงานในสัญญาเดียวที่แล้วเสร็จตามสัญญาและมีการตรวจรับงานเรียบร้อยแล้ว
สอง...เป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่ ธพส. เชื่อถือและไม่ใช่ผลงานอันเกิดจากการรับจ้างช่วง สาม...เป็นผลงานที่จะต้องก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งอาคารสำนักงานตามสัญญาและก่อสร้างในประเทศไทย ซึ่งข้อถัดมา ข้อที่สี่...นี่เองเป็นข้อที่เป็นปมประเด็นปัญหา ระบุว่า...
ผู้ยื่นข้อเสนอผลงานดังกล่าว ต้องมีผลงานการก่อสร้างอาคารสำนักงานที่สร้างใหม่และได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED ไม่ต่ำกว่าระดับ Gold มีพื้นที่ก่อสร้างไม่น้อยกว่า 65,000 ตารางเมตรด้วย โดยให้นำสำเนาใบรับรองและเอกสารสัญญาผลงานอาคารสำนักงานที่ได้รับรองมาตรฐานมายื่นก่อนวันประกวดราคา
ประเด็นสำคัญนี้ “ผู้รับเหมาก่อสร้างไทย” หลายรายได้มีหนังสือท้วงติงไปยังบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ว่าตามข้อกำหนดข้อ 4 ที่ระบุว่า...ผลงานการก่อสร้างอาคารที่ได้รับรองมาตรฐาน LEED ไม่ต่ำกว่าระดับ Gold ซึ่งเป็นเกณฑ์การประเมินระดับนานาชาติที่แสดงถึงมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารสีเขียว
แต่...ในข้อ 21 บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ได้กำหนดว่า ให้ผู้รับจ้างต้องดำเนินงานก่อสร้างให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES) หรือรับการรับรองมาตรฐาน (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) จึงได้ท้วงติงไปว่า...
ผลงานก่อสร้างที่ได้รับมาตรฐานอาคารเขียวไทย TREES ก็ควรที่จะนำมาใช้เป็นผลงานในการยื่นผลงานตามข้อกำหนดได้เช่นกัน แทนที่จะใช้ผลงานก่อสร้างอาคารตามมาตรฐานเขียว (LEED) เพียงอย่างเดียว
วิศวกรผู้เชี่ยวชาญงานก่อสร้างในแวดวงอธิบายว่า อาคารที่ต้องการขอมาตรฐานอาคารเขียวในประเทศไทยนั้น มีเกณฑ์การประเมินหลักๆที่นิยมอยู่ 2 เกณฑ์คือ LEED ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกจากสหรัฐอเมริกา และ TREES หรือเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย
“สถาบันอาคารเขียวไทย” โดย “TREES” นั้นถูกออกแบบและกำหนดเกณฑ์การประเมินให้คล้าย LEED แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนการประเมินบางหัวข้อเพื่อให้เกณฑ์การประเมินนั้นเหมาะสมกับประเทศไทย
พลิกข้อมูลดูรายละเอียดให้ชัดเจนพุ่งเป้าไปที่ข้อกำหนดเฉพาะงานข้อที่ 21 ก็กำหนดไว้ว่า “ผู้รับจ้าง” จะต้องดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อกำหนด ตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย สำหรับอาคารก่อสร้างและปรับปรุงโครงการใหม่ หรือ TREES-NC (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability-New Construction) จริงๆอาจจะกล่าวแบบเข้าใจกันง่ายๆได้ว่า...
“ข้อกำหนดงาน” อยากให้ผู้ก่อสร้างกำหนดกรอบการทำงานตามสเปก “TREES” แต่เวลากำหนด TOR ต้องการแค่สเปก “LEED” เท่านั้น เหมือนเกลียดปลาไหลแต่อยากกินน้ำแกง ตามภาษิตโบราณไทย
จะคิดเป็นอื่นไม่ได้เลยว่า...กติกานี้ทำให้บริษัทก่อสร้างหลายรายไม่สามารถเข้าแข่งขันได้?
ถ้าจะให้การทำงานมีความโปร่งใส ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมาในภายหลัง ขอความกรุณาฝาก...
บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เติม “TREES” หรือ...เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทยเข้าไปใน “TOR” เพื่อปล่อยให้แต่ละบริษัทแข่งขันกันตามกฎระเบียบอย่างเท่าเทียมกัน
ความโปร่งใส...เป็นเรื่องสง่างาม ตรงข้ามกับ “คอร์รัปชัน” ดร.มานะสรุปย้ำไว้ว่า การแก้อย่างยั่งยืนคือมีเครื่องมือตรวจสอบที่เสรี รวดเร็ว แบบ... “โซเชียลแซงชัน”...สร้างกติกาที่ชัดเจน โดยออก พ.ร.บ.การขัดกันแห่งผลประโยชน์ฯ และ...ผลักดันให้องค์กรอิสระฯตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างเข้มแข็ง.