รองโฆษกเพื่อไทย ถามรัฐบาล รีบปิดใช้หัวลำโพง เอื้อประโยชน์ใคร แนะ เปิดใจ หยิบแผนฟื้นฟู สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาสานต่อ อนุรักษ์ของเดิม-เพิ่มรายได้

วันที่ 24 พ.ย. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชะลอคำสั่งให้ยุติการเดินรถที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมา ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟไม่เคยรับรู้ล่วงหน้ามาก่อนถึงแผนการยกเลิกวิ่งรถไฟเข้าสู่สถานีหัวลำโพง หากไม่เกิดกระแสต่อต้านและตั้งคำถามของสังคม นายศักดิ์สยาม คงเดินหน้าต่อ ทั้งที่ตามแผนแม่บทการพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร ระบุไว้ว่า ในปี 2568 รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มจากบางซื่อ - หัวลำโพง จะก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งพอดีกับแผนนำพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปี 2568 เช่นกันด้วย จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดนายศักดิ์สยาม จึงต้องเร่งรีบยกเลิกการเดินรถไฟมายังสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือการตัดสินใจดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่

นายชนินทร์ กล่าวว่า หากนายศักดิ์สยามอ้างว่า ที่ต้องการยกเลิกการเดินรถไฟเข้ามายังสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อจะได้นำที่ดินไปประมูลนำรายได้มาแก้ไขปัญหาหนี้สินการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่สะสมรวม 6 แสนล้านบาทนั้น ยิ่งเป็นข้ออ้างที่ขาดกระบวนการคิดและไตร่ตรองที่ดีพอ เนื่องจากแนวทางการแก้หนี้ด้วยการนำที่ดินของการรถไฟ เพื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลเพื่อเช่าในระยะยาวนั้น มีการดำเนินการมาโดยตลอด ในขณะที่แผนเพิ่มรายได้ให้กับการรถไฟฯ ที่จัดทำโดยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้ทำโรดแมปไว้แล้วอย่างเป็นระบบโดยที่ยังคงการใช้งานสถานีหัวลำโพงเอาไว้ โดยแผนงานมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1 การยกระดับการบริการพื้นฐาน 2 ออกแบบการบริการให้ตอบสนองผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น และ 3 สร้างรายได้ผ่านธุรกิจบริการใหม่

...

นอกจากนี้ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังได้มอบหมายให้ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ออกแบบแผนงานและปรับปรุงการใช้งานหัวลำโพงเอาไว้ตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้แนวคิด “Service Design” หรือการออกแบบบริการโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมทั้งระบบ เช่น การปรับปรุงพื้นที่กายภาพอาคาร, ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานบางส่วน, ปรับเปลี่ยนพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยยังคงอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมไว้ทั้งหมด เพื่อให้หัวลำโพง “ไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นของการเดินทาง แต่เป็นจุดหมายหนึ่งของการท่องเที่ยวด้วย” ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลคิดใหม่ หากจะปรับเปลี่ยนหัวลำโพงควรต้องสร้างชีวิตชีวา (Revitalize) ตามวิถีคนเมือง ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์อย่างมีคุณค่าให้กับคนเมืองในปัจจุบัน โดยต้องสร้างรายได้ด้วย

“ในฐานะสถาปนิก ผมรู้สึกเสียดายที่การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ มุ่งเน้นแต่สร้างผลประโยชน์เชิงตัวเลข แต่ลืมฟังเสียงของประชาชน การดำรงไว้ซึ่งคุณค่าของสถานที่ และการออกแบบแนวนโยบายด้วยความคิดสร้างสรรค์ หากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมมีความจริงใจต่อการพัฒนาประเทศ ผมขอเรียกร้องให้เปิดใจหยิบแผนงานหรือการศึกษาต่างๆ ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์มาพัฒนาต่อ มีหลายโครงการที่ไม่ได้ถูกนำมาสานต่อเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง” นายชนินทร์กล่าว