โฆษกรัฐบาลปลื้ม ประธานหอการค้าไทยยกย่อง "นายกฯ" กล้าตัดสินใจเปิดประเทศ-จัดหาวัคซีน มั่นใจเศรษฐกิจไทยปี 65 กลับมาเติบโตและเข้มแข็ง เดินหน้าเร่งแก้ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ "พลิกโฉมประเทศ"


วันที่ 22 พ.ย. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วานนี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวยกย่อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในคราวที่เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “จับมือ รวมใจ พาไทยรอด” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 วานนี้ว่า “ขอชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่ได้แสดงความหนักแน่น พร้อมรับฟังความคิดเห็น และกล้าตัดสินใจ เช่น การจัดหาวัคซีน และการเปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา” ประธานกรรมการหอการค้าไทย ยังยืนยันว่า หอการค้าไทย มีความตั้งใจและจริงจังที่จะทำงานเคียงคู่กับรัฐบาล หอการค้ายังมีคนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทธุรกิจที่มีศักยภาพสูง พร้อมที่จะช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศร่วมกับรัฐบาลเดินหน้าฝ่าวิกฤติ พลิกโฉมประเทศไทยไปด้วยกัน ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 กลับมาเติบโตและเข้มแข็งอีกครั้ง

...

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของหอการค้าไทยยังสอดคล้องกับแนวคิดนายกรัฐมนตรี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง การขับเคลื่อนเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม และต่อยอด Application ต่างๆ การพัฒนาและยกระดับเกษตรมูลค่าสูง ตามแนวทาง BCG รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบ และกฎหมายที่ล้าสมัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ในการพัฒนาสินค้า และบริการที่เน้นเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศและเติบโต ด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การกระจายรายได้ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมย์และจุดยืนประเทศไทยในที่ประชุม COP 26 ด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ การรักษาการจ้างงาน รวมทั้งมาตรการเยียวยาต่างๆ ที่มีความครอบคลุมทุกกลุ่มประชาชน ทั้งโครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ล่าสุดความสำเร็จของการเดินหน้าเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลยังเดินหน้าแก้ปัญหาซ้ำซาก เช่น น้ำท่วม รวมทั้งลดต้นทุนการเกษตร ส่งเสริมให้เป็นอาชีพอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันไทยก็แสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเป็นภาคีสำคัญในกลุ่มการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาทิ ความร่วมมือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP รวมทั้งการศึกษาเพื่อเข้าร่วมความร่วมมือภายใต้ CPTPP : Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนไทยสูงสุดด้วยเช่นกัน

“ท่านนายกรัฐมนตรีมีรูปแบบสไตล์การทำงานเฉพาะ ไม่เพียงแต่ออกข้อสั่งการ แต่ยังติดตามการดำเนินงาน และรับฟังผลตอบรับจากพี่น้องประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจกับเศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ล่าสุด ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาความยากจน โดยบูรณาการงานและความร่วมมือจากทุกส่วนราชการ มีการใช้ “ทีมพี่เลี้ยง” ลงไปขับเคลื่อนระดับพื้นที่ พูดคุยกับประชาชน ศึกษาปัญหารายครอบครัวด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบที่รัฐบาลต่างประเทศทำเสร็จมาแล้ว แต่ยังไม่เคยมีรัฐบาลไทยชุดไหน เคยดำเนินการมาก่อน” นายธนกร กล่าว.