ถูก ส.ว. ส.ส. รัฐบาลควํ่าไปเรียบร้อยโรงเรียน คสช. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับประชาชน โละไส้ติ่งประชาธิปไตย “ส.ว.ลากตั้ง” ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ด้วยคะแนน 473 ต่อ 206 เป็นอันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมลงชื่อกว่า 1.3 แสนคน กลายเป็นเศษกระดาษไปเรียบร้อย แต่สิ่งที่ได้มาคือ การอภิปรายข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างกว้างขวางกว่า 16 ชั่วโมงในรัฐสภา ถือเป็นการจุดประกายครั้งใหญ่ให้คนไทยได้หูตาสว่างขึ้นอีกเยอะ ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปแน่นอน

ตลอด 8 ปีที่ คสช. และ ระบอบประยุทธ์ ครองอำนาจถึงวันนี้ อนาคตประเทศไทยดีขึ้นหรือแย่ลง คนไทย 70 ล้านคนรู้ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันวิจัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี อดีตนายกฯ ตั้งขึ้นเพื่อวิจัยพัฒนาประเทศไทยจัดสัมมนาในวันเดียวกัน หัวข้อ “ความท้าทายและจินตนา การแห่งโลกใหม่ โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด–19” กลับมองภาพอนาคตประเทศไทยอย่างสิ้นหวัง

ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการทีดีอาร์ไอ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนได้เห็นความอ่อนแอของภาครัฐที่บริหารจัดการไม่ดี เกิดความเสียหายต่อประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะ การนำเข้าวัคซีน ที่รัฐไม่ยอมรับความเสี่ยง การจองวัคซีนล่าช้า ทำให้เปิดประเทศช้า การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ก็ทำให้การบริหารงานภาครัฐปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ รัฐอาจติดกับดักวัฒนธรรมการทำงาน โครงสร้างไม่ตอบโจทย์วิกฤติ การติดต่อราชการยากขึ้น นำไปสู่การคอร์รัปชันกลายเป็นธรรมเนียม ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ถูกจำกัด อาจนำไปเข้ากระเป๋าคนใดคนหนึ่งและไม่เป็นธรรม

...

ดร.วิรไท กล่าวอีกว่า หลายๆโครงการที่รัฐบริหารจัดการไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมโลก ควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่อายุ 35–45 ปี เข้ามาเปลี่ยนแปลงภาครัฐ สิ่งที่ภาครัฐจะต้องมีก็คือ การมองไปข้างหน้า ตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับอดีต ภาครัฐจะต้องมีความคล่องตัวสูง ทันต่อวิกฤติต่างๆ เพราะประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติที่หลากหลายในอนาคตมากขึ้น รัฐจึงต้องมีประสิทธิภาพ

คุณศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความล้มเหลวในการจัดซื้อวัคซีนโควิด–19 ใช้เวลาจัดซื้อนาน ปิดความร่วมมือ สร้างผลเสียหายทางเศรษฐกิจจากการปิดประเทศเดือนละหลายหมื่นล้านบาท และการสูญเสียชีวิตทั้งที่ควรจะหลีกเลี่ยงได้ เรื่องแก้มลพิษในอากาศก็เช่นเดียวกัน ไทยประกาศเป็นวาระแห่งชาติมากว่า 15 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน โครงการรถไฟรางคู่จะเสร็จ ในปีหน้า แต่การจัดซื้อหัวรถจักรกลับล่าช้า

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า “รัฐราชการไทย” แบบเดิมไปต่อไม่ได้แล้ว ไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องที่ต้องการตอบสนองแบบใหม่ได้ ยังยึดติดกับการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง บทเรียนสำคัญนี้ “รัฐราชการ” ควรสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน สังคม ไม่มองว่าตัวเองรู้ดีที่สุด และยึดระเบียบของตัวเอง

คุณศุภณัฏฐ์ กล่าวว่า โมเดล “รัฐราชการไทย” ยังเน้นคิดเองทำเอง ยึดแนวปฏิบัติตัวเอง ดึงทรัพยากรจากสังคมไปมาก ข้อมูลจาก ก.พ.ร.ปี 2563 ระบุว่า สัดส่วนคนในภาครัฐปี 2563 อยู่ในส่วนกลางสูงถึง 60% ภูมิภาค 21.7% ส่วนท้องถิ่น 18.3% งบบุคคลจากงบประมาณก็สูงถึง 40% แต่งบพัฒนามีเพียง 30% เน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์

ฟังแล้วก็ว้าเหว่ครับ ถ้าประเทศไทยยังปกครองใน “ระบอบประยุทธ์” และระบอบ “รัฐราชการ” ไปอย่างนี้อีก 6 ปี จน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯครบสองเทอม อาจได้เห็น “คนรุ่นใหม่ย้ายประเทศ” เหมือนปรากฏการณ์ Great Resignation ที่เกิดขึ้นในอเมริกาก็ได้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”