กลางเดือน พ.ย.2518 เริ่มฤดูหนาว เหมือนปีนี้ มีคำสั่งจากหัวหน้าข่าวให้ไปหนองคาย เรือ นปข.ของเราถูกทหารลาวยิงจนเกือบจม ต้องหนีมาเกยฝั่งดอนแตง หน้าอำเภอท่าบ่อ

สถานการณ์ตอนนั้นค่อนข้างตึงเครียด ฝั่งลาวมีความเคลื่อนไหวคึกคัก ฝั่งไทยก็เตรียมพร้อม

ภารกิจซึ่งเป็นของกองทัพเรือ จะต้องเร่งกู้เรือ นปข.กลับฐานที่อำเภอศรีเชียงใหม่ นักข่าวนับเป็นสิบ เฝ้าคอยทำข่าวอยู่ท่ามะเฟือง เฝ้ากันกว่าสิบวัน ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร

“ดอนแตง” เกาะของไทย พื้นที่ยาวไปตามลำน้ำโขง ร่องน้ำจุดที่เรือ นปข.ถูกยิงเป็นช่องแคบ วันที่ผมนั่งเรือพายชาวบ้าน ไปถ่ายรูปเรือ นปข.ที่เกยตื้น ผมเห็นทหารอ้ายน้อง สะพายปืนปีนตลิ่งลงมาตักน้ำ

บรรยากาศฝั่งลาวดูสงบ วันต่อมาทหารเรือไทยก็เอา นปข. อีกลำ ไปลากลำที่เกยตื้น ประกบเป็นเรือแฝด แล่นมาจอดเทียบท่ามะเฟือง จบภารกิจกู้เรือ นปข.สถานการณ์ชายแดนลาวเริ่มผ่อนคลาย

มีข่าวใหญ่กว่าตามมา ทหารฝ่ายซ้ายยึดเวียงจันทน์ไว้แล้ว

2 ธ.ค.2518 ผมข้ามโขงไปทำข่าว พิธีฉลองวันชาติใหม่ของ ระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เวียงจันทน์ มีแท็กซี่ดีเป็นพี่เลี้ยง บอกให้ระวังระหว่างทำข่าว อย่าเผลอสะดุดตาทหาร เที่ยงกลับหนองคายมาส่งข่าว มารู้ทีหลัง เพื่อนนักข่าวสองฉบับสามคนถูกทหารลาวจับ คุมตัวขังไว้สามวัน

ข่าวแบบอาฟเตอร์ช็อกต่อมา เจ้าโสรยวงศ์ พระโอรสองค์ที่ 3 ของเจ้ามหาชีวิตลาว พร้อมพระชายาและพระธิดา ข้ามโขงมาที่อำเภอศรีเชียงใหม่ขอลี้ภัยในไทย ไม่กี่วันลูกชายเจ้าสุวรรณภูมา อดีตนายกฯลาว ก็ลอยคอข้ามโขงตามมาอีกคน

ติดพันข่าวอยู่หนองคายเดือนกว่า จดจ่อกับข่าวการเมืองการทหาร ไม่ได้สนใจ ช่วงเวลาเทศกาลลอยกระทงลาว ซึ่งมีสองวัน วันแรก ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ยามบ้านเมืองปกติ ลาวจะมีพิธีไหลเฮือไฟ หรือลอยเรือไฟ หรือไม่?

...

พิธีไหลเฮือไฟของลาว กระทงของเขา ทำเป็นรูปเรือ รูปสัตว์ใหญ่โต ใส่เครื่องทำบุญ สบงจีวร อาหารการกิน บางกระทงใส่ตะเกียง เจ้าพายุลงไป เห็นไฟสว่างโร่

ลอยกระทงวันที่สอง แรม 1 ค่ำ วันออกพรรษา มีพิธีไหลน้ำเต้า ลาวใช้น้ำเต้าแห้งเป็นทุ่นทำกระทง ใส่ของเล็กๆน้อยๆ เช่นหมากพลูบุหรี่ ขนมนมเนยนิดหน่อย ถือว่าเป็นการบังสุกุล ลอยไปให้ญาติพี่น้องที่ตาย

นี่คือลอยกระทงแบบลาว ส่วนลอยกระทงไทย ทำกันอีกหนึ่งเดือนต่อมา สามวันกลางเดือน 12

ความรู้เรื่องลอยกระทงลาว ส.พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือ เกร็ดโบราณคดี ประวัติศาสตร์ไทย สำนักพิมพ์รวมสาส์น พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2516 ท่านว่า บางเรื่องเขียนก่อนหน้า 10-15 ปี คือเมื่อราวๆปี 2500

ชุดความรู้นี้ชี้ว่า เรื่องบั้งไฟพญานาค ที่ผุดโผล่กลางน้ำโขง จนเป็นประเพณีใหญ่ ที่ฮือฮากันเป็นเทศกาลสำคัญของฝั่งหนองคาย...เป็นเรื่องที่เกิดหลัง พ.ศ.2518 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองลาว

ทหารอ้ายน้อง ผมหมายถึงทหารฝ่ายซ้าย ทำสงครามรบกับฝ่ายขวาและบางครั้งก็ฝ่ายกลางหลายสิบปี เมื่อทหารป่ารบชนะได้เข้าเมือง ก็แน่นอน อาวุธยุทโธปกรณ์ เช่นกระสุนส่องแสง ที่เคยใช้ในการรบในป่า จึงติดมือเข้าเมือง

กลายเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองเทศกาล โดยเฉพาะลอยกระทง

ปีหนึ่งที่ข่าวบั้งไฟพญานาคยังเป็นกระแสใหญ่ เพื่อนในทีมสกู๊ปหน้า 1 ไปคุยกับเด็กๆอำเภอโพนพิสัย เด็กบอกประสาซื่อๆ รอตอนหนึ่งทุ่ม ลาวจะจุดพลุ พลุที่เด็กบอก ก็คือกระสุนส่องแสง ที่ผมว่า

ประสบการณ์นักข่าวแก่ๆของผม ลาวได้ระบอบปกครองใหม่ ไทยก็ได้เทศกาลใหม่ เทศกาลบั้งไฟพญานาค นี่คือกฎของอนัตตา เวลาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง สิ่งที่เห็นตรงหน้า อย่าสงสัยกันไปนักเลย จริงไม่จริง เป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น.

กิเลน ประลองเชิง