“บิ๊กตู่” เข้าร่วมการหารือสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายภูมิภาคคาร์บอนต่ำ

วันที่ 11 พ.ย. 2564 เวลา 19.00 น. ที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC–Leaders’ Dialogue) ผ่านระบบการประชุมทางไกล จากนั้น นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

ผู้แทน ABAC ชิลีในฐานะประธาน ABAC กล่าวถึงความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันในการพิจารณาเรื่องการเปิดพรมแดนใหม่อีกครั้ง การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์ของโรคโควิด-19 การรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 พร้อมขอให้เอเปค (APEC) กำหนดเป้าหมายร่วมกันโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ขณะที่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ระบุว่า เอเปคมีความเข้าใจดีถึงความประสงค์ของประชาคมภาคธุรกิจที่ต้องการแนวทางที่มีการประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อให้พวกเราก้าวไปสู่ภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นิวซีแลนด์เองก็จำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือจากเอเปค ไม่มีประเทศใดที่จะเอาชนะปัญหาได้เพียงฝ่ายเดียว ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันพิจารณาส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ พัฒนาแรงงานที่มีทักษะและมีคุณภาพ รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม อาทิ ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และสตรีที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และยังไม่เข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟู

...

สำหรับการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ครั้งนี้ แบ่งผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคออกเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มที่ 1 ร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคจากออสเตรเลีย มาเลเซีย และจีนไทเป โดยในการหารือ นายโรเบิร์ต มิลลิเนอร์ ผู้แทน ABAC ชิลี มีประเด็นคำถามต่อนายกรัฐมนตรีว่า

“โควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบที่รุนแรงต่อกลุ่มเปราะบางในสังคม ได้แก่ สตรี ธุรกิจขนาดเล็ก และกลุ่มชาติพันธุ์ ABAC เชื่อว่าในการปกป้องรักษาอนาคต เราต้องแก้ไขและปลดล็อกศักยภาพของกลุ่มเปราะบางเหล่านี้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน เราเผชิญกับภยันตรายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้นและความจำเป็นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ขอทราบว่าเครื่องมือใดที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อจัดการกับความท้าทายต่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน”

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ ประเทศไทยตระหนักดีว่าโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายในหลายมิติ การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการก้าวไปสู่อนาคตของเอเปค ปัจจุบันไทยได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 83 ล้านโดส และคาดว่าจะครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือน พ.ย. และได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าสำหรับปี 2565 ด้วย โดยที่ไทยในฐานะประเทศหนึ่งใน 12 ประเทศผู้ก่อตั้งเอเปค เชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโอกาสที่ดีที่จะวิเคราะห์ว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมีความเปราะบางเพียงใด 

ในปี 2563 กลุ่มเศรษฐกิจเอเปคทั้ง 21 เขต มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 53 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (US$ 53 Trillion) ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกในปีเดียวกันอยู่ที่ 84.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเชื่อว่าการจะบรรลุการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุมได้ต้องเปลี่ยนแนวความคิดเรื่องการพัฒนาใหม่ (Paradigm shift) ไม่หยุดอยู่ที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม แต่ควรตั้งอยู่บนหลักการของก้าวไปสู่ความสมดุล (Thriving for balance) และการหาจุดยืนร่วมกันที่จะทำให้เกิดความกลมกลืนปรองดอง (Harmony) ของทุกภาคส่วนของสังคมและเศรษฐกิจ ระหว่างเขตเศรษฐกิจ ตลอดจนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งความสมดุล (Balance) และความร่วมมือร่วมใจในฐานะหุ้นส่วน (Collaborative partnership) ดังกล่าวคือหัวใจขององค์รวมของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ เศรษฐกิจ BCG

ทั้งนี้ กลไกขับเคลื่อนการฟื้นตัวและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่สำคัญคือภาคเอกชน โดยที่ภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน (Facilitator) กุญแจสำคัญ คือ ความร่วมมือและการลงทุนร่วมระหว่างเอกชนกับรัฐ (PPP) เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนครอบคลุม และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะในด้านการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งทางด้านทรัพยากรชีวภาพ ในขณะที่ดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

สำหรับประเทศไทย จะต้องมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งในด้านผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อให้เอเปคเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจที่ผลิตคาร์บอนต่ำ ตั้งแต่วิธีการผลิตจนถึงการอนุรักษ์ การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า การลดจำนวนขยะ และมลพิษ โดยการนำวิวัฒนาการและเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ มีการสร้างความพร้อมในการปรับตัว และการเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสม และเป็นธรรม 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า เอเปคในฐานะเวทีที่ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือกับประชาคมภาคธุรกิจจะช่วยผลักดันความพยายามร่วมกัน ครอบคลุม และยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG และสามารถร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เขตเศรษฐกิจของเราเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อความอยู่รอดของโลก

ต่อมา นายฮิโรชิ นาคาโซะ ผู้แทน ABAC ญี่ปุ่น และประธานสถาบันวิจัยของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ไดวา มีประเด็นคำถามต่อนายกรัฐมนตรีว่า “ในความเห็นของท่าน เอเปคควรมีบทบาทอย่างไรในการอำนวยความสะดวกเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และภาคธุรกิจสามารถสนับสนุนบทบาทดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง”

นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ภายในกลไกการทำงานของเอเปค การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง แต่เอเปคยังคงต้องรักษาพลวัตการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว เห็นได้จากเสียงเรียกร้องจากการประชุม COP26 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องแสดงความมุ่งมั่นที่จะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความพร้อมในการแก้ไขความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน อาทิ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ ไทยยังได้ตั้งเป้าที่จะให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 ให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2035 รวมถึงเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 55 ของประเทศ 

อีกทั้งในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ไทยจะพยายามเสนอรายการเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันของเอเปคบนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งภาคธุรกิจมีความสำคัญยิ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของเอเปค ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดการของเสีย การพัฒนานวัตกรรม รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชนในการดูแล คุ้มครอง และเยียวยา.