นายกรัฐมนตรี ชี้ภารกิจไทยเจ้าภาพเอเปก มีความหมายอย่างยิ่งอนาคตประเทศไทย เตรียมรับมอบหน้าที่ 12 พ.ย.นี้ หลังจากประเทศเคยเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุด เมื่อปี 2546
เมื่อเวลา 17.10 น.วันที่ 11 พ.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ว่า พี่น้องประชาชนที่รักครับ ในวันนี้ ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน หรือออกมาประกอบอาชีพ ทำกิจกรรมนอกบ้าน เราไม่อาจรอดพ้นจากผลกระทบ ของการแพร่ระบาดโควิดและภาวะโลกร้อนได้เลย ทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทุกประเทศทั่วโลก ต้องปรับตัวและร่วมกันแก้ไขปัญหา ด้วยกลไกและวิธีการที่สร้างความยั่งยืน โดยเรื่องโควิดนั้นมีแนวโน้มที่ดี และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด แต่ปัญหาโลกร้อนนั้น ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่มีแต่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้นำทั่วโลกต่างนำประเด็นนี้ร่วมหารือถึงหนทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะในเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) โดยทุกประเทศ รวมถึงประชากรโลกทุกคน ต่างมีพันธะผูกพัน ที่จะร่วมมือกันเอาชนะปัญหาดังกล่าวให้ได้ เพราะถ้ามีคนใดคนหนึ่งพ่ายแพ้ ทั้งโลกก็จะต้องรับผลแห่งความพ่ายแพ้นั้นร่วมกันในที่สุด
...
ในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ย.) ประเทศไทยของเรา ก็จะได้รับมอบภารกิจครั้งสำคัญ ในการเป็น "เจ้าภาพ" ในการทำงานตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) วาระปี 2565 ต่อจากประเทศนิวซีแลนด์ หลังจากที่ไทยเราเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุด เมื่อปี 2546 ซึ่งเวทีเอเปกถือว่าเป็นเวทีใหญ่ที่มี 21 เขตเศรษฐกิจเป็นสมาชิก ครอบคลุม 38.2% ของสัดส่วนประชากรโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product : GDP) หรือมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการรวมกันมากกว่า 60% ของ GDP โลก ดังนั้น จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายครั้งใหญ่อีกครั้ง ที่ไม่เพียงแต่รัฐบาล แต่คนไทยทั้งประเทศจะต้องร่วมมือกันในฐานะเจ้าภาพ ในการแสดงบทบาทนำของไทย เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้สมาชิกเอเปกเห็นด้วยและร่วมกันทำงานให้ลุล่วงภารกิจเพื่อความอยู่รอดของลูกหลานเราให้สำเร็จได้
ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่นี้ เป็นทั้งปัญหาทางกายภาพ ซึ่งจะต้องอาศัยการระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญและกูรูทุกแขนงเพื่อหาทางแก้ไข แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ การสร้างจิตสำนึก การร่วมแรงร่วมใจกัน ให้ทุกคนในโลกใบนี้เห็นว่าปัญหาโลกร้อนนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ใกล้ตัวและส่งผลร้ายแรงต่อทุกคน หากไม่แก้ไขวันนี้ เราอาจจะไม่มีโอกาสย้อนกลับมาอีกแล้ว
ภารกิจการเป็นเจ้าภาพเอเปกในครั้งนี้ จึงมีความหมายอย่างยิ่งทั้งต่ออนาคตของประเทศไทย สมาชิก และมวลมนุษยชาติ ที่ผมถือเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของเราคนไทยทุกคน ภายหลังจากพิธีรับมอบการเป็นเจ้าภาพเอเปกในวันพรุ่งนี้ ผมจะมารายงานให้พี่น้องทุกท่านได้รับทราบถึงเป้าหมาย และบทบาทหน้าที่อันสำคัญยิ่งของเราคนไทยอีกครั้งครับ