ของอย่างนี้มันยอมกันไม่ได้จะมาปาดหน้าเค้ก แย่งชิงผลงานกันง่ายๆได้ไง
ศึกชิงเหลี่ยม ชิงคะแนนนิยมกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์–พลังประชารัฐ
หลังมีการจ่ายเงินประกันราคาข้าวปีการผลิต 2564/65 งวดแรก ให้กับเกษตรกรชาวนา
ตามที่ ครม.อนุมัติวงเงินให้ 13,000 ล้านบาท ในวงเงินรวมทั้งโครงการ 89,000 ล้านบาท
ตัวจุดพลุก็ “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง รีบออกมาเคลมว่าโครงการประกันราคาข้าวถือเป็นผลงานภาพรวมของรัฐบาล ไม่ใช่ของใคร หรือพรรคใดพรรคหนึ่ง
แถมยังเบิ้ลบลัฟอีกว่า แม้ระบบประกันราคาข้าวจะเป็นการช่วยชาวนา แต่เป็นการทำให้เกษตรกรอ่อนแอ และไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อใด ในทำนองเป็นภาระงบประมาณ
นั่นยิ่งไปสร้างความเดือดดาลให้กับต้นตำรับประกันราคา อย่างประชาธิปัตย์
บรรดาทีมโฆษกออกมาดาหน้าถล่มแหลกใส่ “สันติ” ว่า คิดเอาแต่ได้ คิดเอาแต่หน้า
พร้อมประกาศความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยใช้หาเสียง เคยให้คำมั่นสัญญาไว้กับพี่น้องเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา
นี่เป็นแค่การจ่ายงวดแรก ยังเหลืออีก 32 งวด
โดยที่รัฐต้องหาเงินมาจ่ายอีกกว่า 76,000 ล้านบาท ภายใน 2–3 เดือนนี้
งานนี้ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง คงหัวหมุนน่าดู อาจต้องโยกเงินจากกระเป๋าซ้ายย้ายมากระเป๋าขวา หรือต้องไปเล่นแร่แปรธาตุเอาจากงบฯกลาง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โจทย์ใหญ่อยู่ที่เรื่อง กรอบวินัยการคลัง ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ที่กำหนดกรอบหนี้คงค้างรวมกันได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
เชื่อแน่ว่าไม่เป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลนี้
กรอบกฎหมายกำหนดบังคับเอาไว้ยังไงก็แก้ได้ สบายบรื๋ออออ...
...
มีข้อเสนอที่น่าสนใจจาก งานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 คุณสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ
นำเสนอหัวข้อ “สู่ระบบสวัสดิการใหม่...ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ระบุว่า ระบบสวัสดิการไม่ใช่การบริจาค หรือการสงเคราะห์ แต่เป็นการพัฒนาประเทศ โดยใช้ “คน” เป็นศูนย์กลาง เพื่อ
ตอบโจทย์การแก้ปัญหา 3 อย่าง ที่ไทยอยู่ในวังวนปัญหาเหล่านี้มายาวนาน
ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ที่ยังกระจุกตัวสูง, การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีก 20-30 ปีข้างหน้า และการติดกับดักรายได้ปานกลาง เมื่อคนไทยจำนวนมากมีทักษะแรงงานอยู่ในขั้นต่ำ
ขณะที่การพัฒนาที่ผ่านมาไม่ได้เน้นเรื่องคนอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้มีคนที่ตกหล่น และถูกทิ้งไว้ข้างหลังตลอดเวลา ยิ่งช่วงวิกฤติ
โควิด-19 ยิ่งตอกย้ำให้เกิดแผลเป็นกับคนไทยจำนวนมากก่อให้เกิดคนจนหน้าใหม่ จนเรื้อรัง และการตกหล่นด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน
พร้อมเสนอ 4 องค์ประกอบ เพื่อสร้างระบบสวัสดิการ
โดยมี “คน” เป็นศูนย์กลาง คือ
-เพิ่มศักยภาพคน (Social Service)
-ดูแลคนเมื่อประสบความเสี่ยงในชีวิตรูปแบบต่างๆ (Social Insurance)
-ช่วยเหลือคนกลุ่มด้อยโอกาส (Social Assistance)
-ส่งเสริมให้คนมีงานที่ดีทำ (Active Labor Market Policy)
ไม่ใช่มีแต่วาทกรรมที่สวยหรู “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติจริงจัง.
“เพลิงสุริยะ”