ขึงขังลุยปราบเว็บหมิ่นฯ ทุ่มงบ 400 ล้าน ซื้อเครื่อง LI ปราบสิ้นซาก ตร.แนะแนวทางชาวบ้านใช้อินเทอร์เน็ต เตือน โจมตี-ตอบโต้-ติดตาม-ค้นหา เว็บไม่เหมาะสม เข้าข่ายทำความผิดโดยไม่รู้ตัว 

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร. พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รอง ผบก.ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินการป้องกันปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยพล.ต.ท.วรพงษ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.ให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ กล่าวว่า มาตรการที่เราจะทำมี 2 แนวทาง คือ การปิดกั้นไม่ให้ข้อความที่ไม่เหมาะสมเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชน และดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ความผิดที่มีร่องรอยสามารถจับกุมได้ ซึ่งการปิดกั้นนั้น ต้องใช้อำนาจศาล ล่าสุดกระทรวงไอซีทีได้ร้องขอต่อศาลให้ปิดกั้นเว็บไซต์ 116 URL (ตำแหน่ง) ซึ่งเผยแพร่ข้อความที่กระทบต่อความมั่นคง และประการที่สอง คือการดำเนินที่จะหาผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ได้มีการรวบรวมเป้าหมายเพื่อที่จะขอศาลออกหมายค้น ซึ่งขณะนี้ศาลได้ออกหมายค้นมา 5 เป้าหมาย ผลการเข้าตรวจค้น สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ 2 เป้าหมาย พบบุคคลที่อยู่ในข่ายแต่ไม่ได้แจ้งจับกุม เพียงแต่ต้องการรวบรวมข้อมูล อยู่ในกระบวนการ ส่วนอีก 3 เป้าหมาย เจ้าตัวทราบและหลบหนีไป

...


ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็ตั้งใจทำ แต่ไม่บูรณาการ ไม่เอาจริงเอาจัง ตนได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความเข้าใจตรงกันแล้ว คณะทำงานชุดนี้จะทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง กระทรวงไอซีทีจะซื้อเครื่องมือตัดข้อความไม่บังควรได้ เราจะใช้รัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ ข้อความมาจากต่างประเทศก็ต้องปิดกั้น ใครฝ่าฝืนกฎหมายต้องดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด สุจริตชนสบายใจได้ ละเมิดสิทธิ์ไม่มี เราจะร่วมกันทำอย่างต่อเนื่อง

"ถ้าเรามีเครื่อง LI มันตัดเลย เมื่อผมรับผิดชอบ ก็พยายามหาช่องทาง พวกที่มีความชำนาญเขาบอกว่ามาถูกทางแล้ว ที่ผ่านมาไม่รวมกัน คนโน้นทำที แต่รอบนี้เรียบร้อยหมด ขณะนี้นายกรัฐมนตรีรับหลักการในการจัดซื้อเครื่องนี้แล้ว น.อ.อนุดิษฐ์พูดในที่ประชุม ครม. ให้ไอซีทีไปว่ากัน แล้วมาใช้ร่วมกัน งานนี้ตำรวจกับไอซีทีต้องไปด้วยกัน ห้ามแตกแยกกัน เครื่องนี้ใช้แล้วคุ้มแน่นอน เอาแค่เครื่องเดียวพอแล้ว ประมาณ 400 ร้อยล้าน รัฐบาลเอาจริงจังเรื่องนี้" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านโจมตีว่า หาเว็บไซต์เหล่านี้ได้ง่ายมากในกลุ่มคนเสื้อแดง เรื่องนี้ได้เข้าไปตรวจสอบบ้างหรือยัง ร.ต.อ.เฉลิมตอบว่า เราเพิ่งแต่งตั้งคณะทำงาน ประชาธิปัตย์ใจร้อนเหลือเกิน อยู่มาสองปีเจ็ดเดือนทำอะไรบ้าง รับรองว่างานนี้ไม่เสื้อสีใดทั้งสิ้น เมื่อถามว่า ปัญหาเรื่องนี้กลั่นแกล้งกันได้ จะป้องกันอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิมตอบว่า กลั่นแกล้งไม่ได้ เราต้องป้องกัน หวังผลของงาน กระทบความมั่นคง เบื้องสูงไม่ได้ เรามีวิธีการคิดและทำ

ด้าน พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รอง ผบก.ปอท. กล่าวว่า ขณะนี้เราศึกษาว่า โปรแกรมต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนออนไลน์ต่างๆเป็นอย่างไร ซึ่งมีความสลับซับซ้อน ทำงานด้วยมือเปล่า ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือ คือเครื่องสกัดกั้นสัญญาณ หรือเรียกว่าเครื่องมือรักษาความปลอดภัยของระบบเครือข่าย ซึ่งในทางสากล ได้เป็นที่ยอมรับกันแล้ว ในทางยุโรปและอเมริกา ที่เรียกว่า ระบบ Lawful Interception หรือเรียกย่อๆว่า LI  เราจึงได้มีการเสนอเพื่อขอเครื่องมือ LI  "อย่างไรก็ตาม เมื่อมีระบบตรงนี้ ก็ต้องกระทำภายใต้กรอบของกฎหมาย บทบัญญัติมาตรา 18 เช่น ต้องได้รับคำสั่งจากศาลก่อน จึงขอให้ประชาชนได้สบายใจว่า ระบบเครื่องมือตัวใหม่หรือ LI ตัวนี้ จะไม่กระทบกระเทือนสิทธิ์”

พ.ต.อ.ศิริพงษ์กล่าวว่า อยากจะชี้แจงเรื่องการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่จะกระทบต่อสถาบันหรือความมั่นคงในอินทตอร์เน็ตแบบไม่ตั้งใจว่า ปัจจุบันประชาชนมีความนิยมเครือข่ายออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารอย่างแพร่หลาย เช่น เฟชบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ซึ่งมีบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีใช้ช่องทางของเครือข่ายสังคมออนไลน์นี้ ทำการเผยแพร่ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิดกฎหมาย จึงขอเตือนประชาชนว่าอย่าได้หลงกลทำการตอบโต้ หรือทำการติดตามเว็บไซต์ดังกล่าว เพราะจะกลายเป็นการทำผิดแบบไม่รู้ตัว ทำให้เว็บไซต์เหล่านั้นได้รับความนิยมโดยไม่ตั้งใจ หากพบเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ต้องไม่เผยแพร่ต่อด้วยการส่งอีเมล์ต่อบุคคลอื่น หรือเข้าไปดูหลายครั้ง กรณีเฟซบุ๊ก ก็อย่าไปกดปุ่มไลค์ ส่วนทวิตเตอร์ ก็อย่ากดปุ่มฟอลโลว์ สำหรับการใช้ข้อมูลค้นหา เมื่อพบข้อมูลไม่เหมาะสม อย่ากดลิงก์ไปดู เพราะจะทำให้เกิดระดับสร้างความนิยมในเว็บไซต์นั้น ทำให้กูเกิลจัดเว็บไซต์นั้นอยู่ในระดับแรกๆ

“การโจมตี ตอบโต้ ติดตาม ค้นหา เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมนั้น แทนที่จะเป็นการตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ในทางจิตวิทยากลับเป็นการยั่วยุให้เขาทำความผิดเพิ่มขึ้น ในทางเทคนิคอินเทอร์เน็ตแล้ว เป็นการไปสร้างความนิยมให้กับเว็บไซต์ดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว จะทำให้เกิดการแพร่หลายมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อเห็นข้อมูลที่ไม่เหมาะสม สามารถเข้าไปกดลิงก์ เข้าไปรายงานความไม่เหมาะสมของชื่อบัญชีดังกล่าวกับผู้ดูแลระบบได้โดยตรง หรือที่เรียกว่า ช่วยกันระดมกันแบน” พ.ต.อ.ศิริพงษ์กล่าว