ก้าวไกล ชี้ รัฐเร่งกู้เงินโปะกองทุนน้ำมัน ขยายกรอบอุดหนุน LPG ตรึงราคาแก๊สหุงต้ม ย้ำ เยียวยาตรงประชาชน-ผู้ประกอบการ แนะ ขยายร้านค้าคนละครึ่งคลุมปั๊มน้ำมัน บรรเทาค่าครองชีพ

วันที่ 20 ต.ค. วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 2 ยานนาวา บางคอเเหลม พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังพุ่งไม่หยุด หลังจากที่ทะลุ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเรียบร้อย ส่วนประเทศไทย เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัดด้านเศรษฐกิจ ด้วยค่าเงินบาทอ่อนอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์

วรรณวรี กล่าวถึง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการกันถ้วนหน้า จนกระทั่งเริ่มมีม็อบรถบรรทุกเรียกร้องการช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะราคาน้ำมันส่งผลต่อค่าครองชีพ และต้นทุนสินค้า ทั้งค่าขนส่ง ค่าเดินทาง และค่าอาหาร ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มมีมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลออกมาบ้างแล้ว ด้วยการลดเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันสำหรับน้ำมันดีเซล b7 และลดค่าการตลาดลงเหลือ 40 สตางค์ แต่ก็ยังน่ากังวลใน 2 เรื่อง ที่ยังไม่มีมติออกมาชัดๆ คือ สถานะของกองทุน โดยเฉพาะที่อุดหนุนแก๊สหุงต้ม LPG ที่ติดลบกว่า 17,000 ล้าน

ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สุทธิ ณ วันที่ 19 กันยายน 2564 อยู่ที่ 11,857 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของน้ำมัน 29,040 ล้านบาท และ LPG ซึ่งติดลบ 17,183 ล้านบาท เรื่องแรกก็คือ ยังไม่มีการขยายกรอบการอุดหนุนราคาแก๊ส LPG ที่กำหนดไว้ให้ติดลบไม่เกิน 18,000 ล้านบาท ซึ่งก็ปริ่มเต็มที เรื่องที่สองก็คือ หากยังต้องใช้เงินอุดหนุนต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ตามการคาดการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก เงินเหลือสุทธิก็ไม่น่าจะเพียงพอ และจำเป็นต้องกู้เพิ่ม โดยกรอบตามกฎหมายให้กู้เพิ่มได้ไม่เกิน 20,000 ล้าน แต่หากมีเหตุจำเป็นก็ขยายได้

...

วรรณวรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาษีสรรพสามิต ตนมองว่า ไม่ควรแตะในระยะสั้น เพราะจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐในยามที่ตั้งงบประมาณ แบบกู้ชดเชยขาดดุลชนเพดานแล้ว ถ้าปรับลดภาษีลิตรละ 5 บาท ก็อาจทำให้เกิดวิกฤติการคลังได้

“ปัญหาต้นตอคือ การใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุนข้ามประเภท เช่น อุดหนุนแก๊สหุงต้ม แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล ทำให้เงินกองทุนร่อยหรอ นับเป็นปัญหาคาราคาซัง นับตั้งแต่มีกฎหมายกองทุนน้ำมันใหม่ที่ประกาศให้ทยอยลดเงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ และหยุดการอุดหนุนภายใน 3 ปี จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีวี่แวว”

วรรณวรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาโดยตรงให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเพิ่มเงินเยียวยาในส่วนช่วยเหลือค่าครองชีพ และเพิ่มการเยียวยาให้ผู้ประกอบการในภาคขนส่ง จากเงินกู้ 5 แสนล้านในส่วนการเยียวยาที่ยังเหลืออยู่กว่า 160,000 ล้านบาท ขยายร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งให้ครอบคลุมปั๊มน้ำมันด้วย น่าจะเป็นการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชนได้ตรงจุดมากขึ้น