• พรรครัฐบาลชิงพื้นที่รัฐบาล พรรคฝ่ายค้านชิงพื้นที่ฝ่ายค้าน ส่อเค้าเป็นการเตรียมตัว สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะย้ำชัดต่อสื่อหลายครั้ง ว่าไม่มียุบสภา
  • พรรคประชาธิปัตย์ มั่นใจเลือกตั้งครั้งหน้า กวาดเก้าอี้ภาคใต้ได้มากขึ้น เพราะคะแนนดี ภาคอีสานมีตัวเลือกเพิ่ม ภาคเหนือมี ส.ส. ย้ายพรรคมา
  • ส่วนพรรคก้าวไกล คาด ได้เก้าอี้อย่างน้อยๆ 140 ที่นั่ง ไปจนถึง 170 ที่นั่ง แม้จะเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ไม่ใช่อุปสรรค ผลโพล และยอดเงินบริจาคจากผู้เสียภาษีชัดแล้ว

ว่าด้วยการลงพื้นที่ หลังปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามธรรมเนียมในช่วงปีที่ 3 ของรัฐบาล ทุกพรรคการเมืองจะต้องรีบชิงพื้นที่ไปพบปะประชาชนให้มากที่สุด เพื่ออวดผลงานรวมถึงนโยบายที่เคยหาเสียง และที่ทำสำเร็จในรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ครั้งนี้พรรคการเมืองที่ดูเหมือนจะลงพื้นที่หนักที่สุด คงต้องยกให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคก้าวไกล เพราะหลังจากปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุด ก็มีหมายออนทัวร์แทบทุกภาค

โดยพรรคแรก อย่างพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มต้นโปรเจกต์ “จุรินทร์ ออนทัวร์” ที่ลงพื้นที่แต่ละครั้งไม่ใช่การไปแล้วกลับเหมือนยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคที่ขึ้นชื่อเรื่องการรักครอบครัว ไม่ว่าจะลงพื้นที่ดึกหรือไกลแค่ไหนก็ต้องกลับมานอนที่บ้าน แต่พอเข้าสู่ยุคของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค รูปแบบถูกปรับเปลี่ยนใหม่หมด เป็นแบบนอนค้างคืน และไปแต่ละครั้งอย่างต่ำต้อง 4 จังหวัด ไม่ถึงเดือนลงพื้นที่มาแล้ว ทั้งอันดามัน กรุงเทพฯ ภาคเหนือ และล่าสุดภาคใต้ ที่เรียกเสียงฮือฮาด้วยการเปิดตัว นายเมธี อรุณ นักร้องดังวงลาบานูน

...

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรค ก็จัดตารางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมน้ำท่วมแบบถี่ๆ สลับกับน้องรักอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงคนอื่นๆภายในพรรค เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคฯ และรัฐมนตรีในสังกัด สั่งย้ำหนักย้ำหนาต้องช่วยเหลือประชาชน ตั้งศูนย์ตั้งแต่โควิด-19 จนถึงศูนย์ช่วยน้ำท่วม แบบไม่สนกระแสม็อบที่ออกมาต่อต้าน

ส่วนทางฝั่งพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคก้าวไกล ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน แม้จะเป็นพรรคน้องใหม่ได้เข้ามานั่งในสภาเพียงแค่สมัยเดียว แต่ก็ขอชิงพื้นที่ทางการเมืองกันแบบสู้ไม่ถอย รุกคืบพื้นที่หัวเมืองที่เป็นฐานเสียงสำคัญ รับลูกการเดินเกมกับคณะก้าวหน้า ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่โฟกัสไปที่เลือกตั้งท้องถิ่น

ชี้คะแนนนิยมของพรรคและหัวหน้าพรรคดีขึ้น

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกกับไทยรัฐออนไลน์ว่า การลงพื้นที่ในช่วงนี้เป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะมีการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร แกนนำพรรคและหลายคนจะลงพื้นที่พบปะประชาชนมากขึ้น เพื่อรับฟังปัญหา เนื่องจากอาจมีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งจะเลื่อนเข้ามา จึงต้องเตรียมความพร้อม ส่วนโพลหลายสำนักในระยะหลัง ทางพรรค และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ดีขึ้น รวมถึง engagement (การมีส่วนร่วมกับโพสต์) ของนายพิธา ก็สูงเป็นเท่าตัว รวมไปถึงโพลของพรรคอื่นๆ ทางพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรค ก็ได้รับความนิยม

“ซึ่งเราเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดี มันสะท้อนการทำงานของพรรคก้าวไกล จากยุคอนาคตใหม่ แล้วต่อยอดมาที่ก้าวไกล เราก็ประเมินตัวเองมาตลอดว่า เราก็ทำได้ดี ไม่ได้ด้อยกว่าตอนที่เป็นอนาคตใหม่ การพิจารณากฎหมายในสภา การทำงานในกรรมาธิการสามัญที่มีประธานเป็นของพรรคก้าวไกล ก็ช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมได้หลายเรื่องมาก การอภิปราย และพิจารณางบประมาณประจำปี ตั้งแต่ ที่เป็นอนาคตใหม่ จนถึงที่เป็นพรรคก้าวไกล เราคิดว่า ที่ผ่านมากฎหมายพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน ไม่เคยได้รับความสนใจมากเท่ากับยุคนี้ พ.ศ.นี้ ที่พรรคก้าวไกล สะท้อนให้เห็นปัญหา”

ไม่สนระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มั่นใจได้อย่างต่ำ 140-170 ที่นั่ง

เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่จะนำไปคิดบัญชีรายชื่อแบบ MMM (วิธีการคำนวณแบบคู่ขนาน) หรือ MMP (ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม) ซึ่งทางพรรคก้าวไกลประเมินว่าจะได้ ส.ส.เขตอย่างต่ำ 140 จนถึง 170 ที่นั่ง โดยคำนวณจากเขตเลือกตั้งลักษณะเมือง เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การซื้อเสียง ใช้ไม่ได้กับการเลือกตั้งลักษณะนี้ เนื่องจากพฤติกรรมของ Voter (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) เป็นการเลือกแบบอยากเห็นพรรคการเมืองใดมาบริหารประเทศ มากกว่าตัวผู้แทน ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งต่อไป เชื่อมั่นว่า Voter จะเลือกพรรคก้าวไกล 2 ใบ ทั้งตัว ส.ส. และ ตัวพรรค โดยแสดงให้เห็นจากตัวยอดบริจาค รวมถึงจำนวนคนที่บริจาคเงินเข้าพรรคจากผู้เสียภาษี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นกลาง ให้ความนิยมและไว้วางใจกับการทำงานของพรรคก้าวไกล

“หลายคนอาจจะพูดว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้อันดับหนึ่งมาตลอด แต่ว่าไม่ได้สะท้อน เป็นคะแนนเสียง ในการลงคะแนน ซึ่งประเมินได้ แต่มาพร้อมกันหลายๆ อย่าง ทั้งผลโพล และเงินบริจาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลโพลของพรรคเอง จึงทำให้เราเชื่อว่า 140-170 ใน ส.ส.เขต มันมีความเป็นไปได้ เราก็จะขยัน ว่าที่ผู้สมัครก็จะต้องขยันทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย”

หวังเก้าอี้พื้นที่ลักษณะเมือง ในภาคกลาง และภาคตะวันออก

เวลาคนมองพรรคก้าวไกล จะเป็นเรื่องสังคม เรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ด้านปากท้อง นายพิจารณ์ ชี้แจงเรื่องนี้ว่า อาจจะเป็นการมองที่ไม่ได้มองทั้งหมด เพราะเรื่องปากท้อง พรรคก็มีนโยบายด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นโจทย์ของพรรคที่ต้องมีความสมดุลในการสื่อสารกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน แต่คือเรื่องคุณภาพชีวิต ซึ่งมีผลสะท้อนโดยตรงกับเรื่องเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกลจึงอาจจะถูกมองว่าเรื่องที่เสนอไม่ใช่เรื่องปากท้อง แต่จริงๆ แล้วเชื่อมโยงกัน

ส่วนการลงพื้นที่ไปเขตชุมชนในช่วงหลัง ไม่ใช่การเปลี่ยนกลยุทธ์แต่อย่างใด เพราะทางพรรคเน้นไปที่ตัวปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไข ไม่ได้มองว่าเป็นรากหญ้าหรือชุมชน เพราะในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ก็อยากจะใช้กลไกในการแก้ปัญหาให้ประชาชน เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นฝ่ายค้านยังสามารถแก้ปัญหาได้ หากได้เป็นรัฐบาลจะแก้ปัญหาได้มากขนาดไหน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับผลการตอบรับที่ดี จนถึงดีมาก แต่เรื่องนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะการบ้านของพรรค คือ ปัญหาที่เจอ ที่เป็นความหนักใจว่าทางพรรคนั้นไม่ใช่รัฐบาลจะแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างไรในการลงพื้นที่ ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้าเก้าอี้ที่ทางพรรคหวังมากที่สุด ยังเป็นพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่เป็นสังคมเมือง

“สำหรับพรรคก้าวไกล จะเป็นการเลือกตั้งใหญ่ ผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเป็นท้องถิ่นเดียวที่พรรคส่ง และเลือกตั้งระดับชาติ ส่วนคณะก้าวหน้าจะเป็นท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล ถามว่าทำงานร่วมกันไหม เป็นการแลกเปลี่ยนมากกว่า ในฐานะที่เคยทำงานร่วมกัน จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนกันบ้างตามประสาเพื่อนฝูง จึงมีการพบปะ สังสรรค์กัน” นายพิจารณ์ กล่าว

ประชาธิปัตย์ โว คะแนนภาคใต้ดีขึ้น ภาคอีสานมีตัวเลือกเพิ่ม ภาคเหนือมี ส.ส. ย้ายพรรคมา

ขณะที่ทางฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล อย่างประชาธิปัตย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ รองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ บอกกับไทยรัฐออนไลน์ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ไม่ใช่การปูทางไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าแต่อย่างใด เพราะแต่ละครั้งเป็นการลงพื้นที่ตามปกติ ที่เวลาหัวหน้าไปไหนจะเอาสมาชิกพรรคไปด้วย ส่วนคะแนนนิยมในภาคใต้ครั้งนี้ก็ดีขึ้นกว่าเดิม มีผู้สมัครที่ต้องการจะลงแข่งมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคอีสาน โดยครั้งนี้มีตัวเลือกที่ดีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งที่ผ่านมาในภาคอีสาน ทางพรรคเคยที่ได้คะแนนมากสุดเพียงแค่ 1,000-2,000 คะแนน แต่ครั้งนี้กลับมีอดีต ส.ส. เข้ามาเสนอตัวจำนวนมาก ส่วนภาคเหนือเองครั้งนี้ ก็มีทั้งอดีต ส.ส. และที่มาจากพรรคอื่น เข้ามาสมัครเป็นสมาชิก โดยมองว่าเป็นผลมาจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน จึงทำให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น

“ผมว่าดีขึ้นกว่าเดิมนะ จากการต้อนรับจากประชาชนก็ดี สายตาจากประชาชนก็ดี ดีกว่าเมื่อตอนช่วงเลือกตั้ง การหาผู้สมัครรอบนี้กับการหาผู้สมัครรอบที่แล้ว ผิดกันเยอะ คราวที่แล้วไปชวนใครก็ยากลำบาก คราวนี้ไปชวนผู้สมัคร ก็หาได้ง่าย เรามีตัวเลือกมากขึ้น บางเขต 4-5 คน มาเสนอตัว คราวที่แล้วจะให้ใครลงต้องไปวิงวอน ต้องไปขอร้อง เขาถึงจะลง อันนี้เป็นตัววัดกระแสได้อย่าง” นายนิพนธ์ กล่าว

เลือกตั้งครั้งหน้า คนย้ายพรรคจะน้อย ลงพื้นที่หนัก เพราะทุกพรรคต้องพร้อม

เหลืออีกเพียงปีกว่า ที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้น หากไม่ยุบสภาเสียก่อน นายนิพนธ์ มองภาพรวมของพรรคว่า สมาชิกอาจจะแทบไม่มีการย้ายพรรค หรือถ้ามีก็ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก เพราะแทบจะไม่เห็นตัวคนที่ต้องการจะย้าย เนื่องจากปัจจุบัน คนที่ดูเหมือนว่าจะย้ายพรรคก็ยังคงอยู่

ขณะที่การลงพื้นที่หนักช่วงนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของทุกพรรค เพราะไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคที่มีประสบการณ์ จึงไม่มีคำว่าประมาท ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐ มีความมั่นใจในการกวาดเก้าอี้ภาคใต้เพิ่มเติม ก็ต้องเป็นเรื่องที่ว่ากันไป เพราะไม่มีใครรู้ดีเท่าประชาชน

“พอการเมือง รัฐบาลย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ต้องเตรียมพร้อม การใช้ระยะปีกว่าๆ ในทางการเมืองถือว่าน้อยมาก ไม่เกี่ยวกับ กกต. ที่ส่งจดหมายมาให้เตรียมตัว เพราะโดยสถานะคนที่ทำพรรคการเมืองต้องรู้ ย่างเข้าปีที่ 3 ต้องเตรียมพร้อมแล้ว (พปชร.โวว่าจะกวาดเก้าอี้ภาคใต้) เดี๋ยวค่อยไปว่ากัน ไม่มีใครรู้ดีเท่าประชาชน ประชาชนตัดสินนะครับในทางการเมือง มันเป็นเรื่องปกติ”

มั่นใจภาคใต้ได้ที่นั่งเพิ่มแน่

ที่ผ่านมาแน่นอนว่า พื้นที่ภาคใต้มักตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมากลับพลิกโผ สูญเสียไปหลายที่นั่ง นายนิพนธ์ มั่นใจว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะถึงนี้ ทางพรรคจะได้ที่นั่งเพิ่ม แต่จะเป็นจำนวนเท่าใด เป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะตอบ แต่ทางพรรคคาดการณ์ได้ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะต้องรอดูเรื่องการแบ่งเขตก่อน และรอดูรัฐธรรมนูญ รวมถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกาศว่า ภาคใต้ต้องมี ส.ส. กี่ที่นั่ง เพราะตอนนี้ยังอยู่ในช่วงคาดเดา

“ต้องดูพื้นที่ เขตเลือกตั้งที่แน่นอน รวมถึงผู้สมัคร จึงจะพอประเมินได้ ตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าผู้สมัครจะแข่งกับใคร ประเมินก็ไม่ได้ แต่เราพอคาดคะเนเบื้องต้นได้ ว่าเป็นอย่างนั้น ว่าเป็นอย่างนี้ ส่วนเลือกตั้ง อบต. พรรคไม่ได้ส่ง”

ส่วนการลงพื้นที่ต่อจากนี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์ จะเน้นพื้นที่ภาคใต้ แถวอันดามันอีกครั้ง ส่วนพรรคพลังประชารัฐ จะยังคงเน้นฐานเสียงของ ส.ส. เดิม ขณะที่ทางพรรคฝ่ายค้าน อย่างเพื่อไทย จะยังคงจับจ้องไปที่ภาคอีสาน และเหนือ ส่วนพรรคก้าวไกล จะเน้นฐานเสียงที่เป็นชุมชนเมืองเป็นหลัก จึงต้องจับตาการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเก่ามากประสบการณ์การเมือง หรือพรรคน้องใหม่ ที่หวังจับทางคนหัวคิดใหม่ ใครจะวินหรือจะแป๊ก

ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก : Sathit Chuephanngam