ระดับแกนนำที่เข้าร่วม “งานรำลึก 45 ปี วีรชน 6 ตุลาคม 2519” เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การเมืองไทยในปัจจุบันแทบจะไม่แตกต่างกัน ยังมีการจับกุมคุมขังนักศึกษาหรือเยาวชน ที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลในเวลาเพียงปีเศษที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดี 486 คดี รวม 1,171 คน
มีการใช้กำลังสลายการชุมนุมบ่อยครั้ง แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เมื่อ 45 ปีก่อน แต่ก็ยังมีบาดเจ็บ มีการงัดเอา พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย มาควบคุมการชุมนุมทางการเมือง และตั้งข้อหาหนักๆตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือมาตรา 112 เล่นงานผู้ชุมนุม
แม้การชุมนุมโดยสงบจะเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐ ธรรมนูญรับรอง และเป็นสิทธิเสรีภาพตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประชาคมโลกยึดถือ โศกนาฏกรรม 6 ตุลาคมของไทย เป็นผลจากการที่รัฐใช้ความรุนแรง เพื่อปราบปรามนักศึกษาที่ร่วมกันชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
45 ปีผ่านไป การเมืองไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง ในสาระสำคัญ โศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม เป็นการตอกย้ำความเห็นต่างในทางการเมืองระหว่างกลุ่มผู้ยึดมั่นในแนวคิดอำนาจนิยม เชื่อมั่นว่าอำนาจสามารถแก้ปัญหาได้สารพัดกับกลุ่มที่อาจเรียกได้ว่ากลุ่มอิสรภาพนิยม ที่เชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุด
แต่ประชาธิปไตยต้องล้มลุกคลุก คลาน เนื่องจากกลุ่มอำนาจนิยมเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ และใช้กำลังหรือความรุนแรง เพื่อยึดอำนาจเป็นระยะๆ หลังโศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519 เกิดรัฐประหารอย่างน้อย 4 ครั้ง เริ่มด้วยรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519, 2534, 2549 และ 2557 เพราะอำนาจนิยมที่ฝังรากลึก
ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง และลุกลามบานปลาย กลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐมักจะตัดสิน หรือชี้ขาดด้วยการใช้กำลัง บางครั้งกลายเป็น “การสังหารหมู่” ที่กฎกติกาของโลกถือว่าเป็น “อาชญากรรม ทางการเมือง” นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้นำตัวผู้บงการขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ
...
แต่น่าจะเป็นไปได้ยากสำหรับประเทศไทย จะเป็นแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบก็ยังยาก 6 ตุลาคม 2519 ไม่ใช่ครั้งแรก และครั้งเดียวที่มีเหตุการณ์นองเลือดในการเมืองไทย แต่ไม่เคยมีผู้บงการต้องรับโทษใดๆ เพราะเป็นผู้ที่กุมอำนาจ อาจจะมีผู้ได้รับโทษบ้าง แต่เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ไร้อำนาจ.