น่าสงสัยพรรคการเมืองได้สัญญาณที่ส่อแสดงว่าอาจมีการเลือกตั้งในไม่ช้าหรืออย่างไร หลายพรรคจึงประกาศส่งผู้นำพรรคชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทยส่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคประชาธิปัตย์ส่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคก้าวไกลส่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่พรรคแกนนำยังนิ่งอยู่
เนื่องจากความขัดแย้งภายในพรรค พรรคพลังประชารัฐยังไม่รู้จะลงเอยอย่างไร จึงยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ จะส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเข้าประกวดอีกหรือไม่ หรืออาจเพราะตัวเองเป็นผู้กำหนดว่าจะให้เลือกตั้งเมื่อไหร่ จึงไม่กระตือรือร้น เพราะยังไม่ถึงเวลา
การที่พรรคสำคัญๆ เปิดตัวผู้ท้าชิงนายกรัฐมนตรี ทำให้ดูเสมือนว่าประเทศไทยจะมีการเลือกนายกฯ ซึ่งไม่เป็นความจริง รัฐธรรมนูญเพียงแต่ให้พรรคเสนอชื่อผู้สมัครนายกฯ พรรคละไม่เกิน 3 ชื่อ ก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อประกาศให้ประชาชนรับรู้ ถ้าพรรคชนะและเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล จะให้ใครเป็นนายกฯ
บทถาวรของรัฐธรรมนูญระบุว่า ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้เสียงสนับสนุนจากเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 251 เสียงขึ้นไป แต่บทถาวรของรัฐธรรมนูญ มาตรา 259 เป็นแค่เรื่องหลอกๆ แต่การเลือกนายกฯของจริงต้องใช้บทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้ ส.ส. กับ ส.ว. 250 คน ร่วมเลือกนายกฯด้วย
250 ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. และมีสิทธิเลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ เป็นบทบัญญัติที่ขัดหลักการของประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง จึงได้รับการขนานนามเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือ “เผด็จการครึ่งใบ” มาตรา 272 เป็นประเด็นที่นักประชาธิปไตยขอแก้ไขมากที่สุด แต่ถูกควํ่ากลางสภา
ผลการสำรวจความนิยมของประชาชน อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี โดยนิด้าโพล เสียงส่วนใหญ่ 32.61% ประกาศยังไม่ชอบใคร 17.54% สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 11.15% ชอบคุณหญิงสุดารัตน์ 11.05% เลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตามด้วย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้ 9.07%
...
ตามด้วยนายกรณ์ จาติกวณิช (2.58%) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (2.33%) นายจุรินทร์ (1.54%) นายอนุทิน (1.24%) ด้วยคะแนนนิยมในหมู่ประชาชนระดับตํ่าสุดๆ แบบนี้ จะได้รับเลือกเป็นนายกฯได้อย่างไร แต่ขอให้ถือเสียว่าผลของนิด้าโพลช่วยให้นักการเมืองเร่งสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชน.