คู่ขัดแย้งยังเหมือนเดิมระหว่าง “คสช.” กับ “เพื่อไทย”

นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขยับมุมคิดให้เห็นสภาพการเมืองในปัจจุบัน

นับจาก 19 ก.ย.49 ถึงวันนี้เพิ่งครบรอบ 15 ปี คู่ขัดแย้งหลักระหว่างผู้มีอำนาจในรัฐบาลกับอดีตพรรคไทยรักไทยมาถึงพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีบางช่วงที่ฝ่ายหลังขึ้นมามีอำนาจบ้าง 2-3 รอบ ประชาชนที่ไม่เอาก็เคลื่อนไหวต่อต้าน นำไปสู่การยึดอำนาจ 22 พ.ค.57

ขณะที่รัฐบาลผู้มีอำนาจรัฐย่อมเชื่อมโยงกับสถาบัน เพราะประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทำให้อีกขั้วการเมืองล่วงล้ำก้ำเกินกระทบใจคนไทยจำนวนมาก ซึ่งเข้ามาสนับสนุนแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการกระทบกระทั่ง

กลายเป็นความขัดแย้งในระดับที่สอง

ขณะที่เยาวชน นักศึกษาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ในจำนวนนี้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็มี มีบางส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคู่ขัดแย้ง พาดพิงไปถึงสถาบัน

...

ทำให้ผู้ภักดีออกมาปกป้องสถาบัน

แต่ถูกมองว่าปกป้องผู้มีอำนาจด้วย

สุดท้ายเกิดความสับสน ควรจำแนกแยกแยะให้ดีว่า ผู้ที่คัดค้านกลุ่มอำนาจเดิม ปกป้องสถาบันหรือปกป้องรัฐบาล บนฝ่ายที่ปกป้องรัฐบาลก็มีอยู่ถือโอกาสผสมโรง กลายการปกป้องรัฐบาลเป็นปกป้องสถาบัน

สะท้อนความขัดแย้งสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

“สถาบันอยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องการเมือง ทุกเรื่องไปอ้างไปอิง เสียงฟ้า ใครเคยได้ยินบ้าง เสียงฟ้าเขาห้ามฟัง ไม่มีใครได้ฟังเสียงฟ้า ฟ้าธรรมชาติ ฟ้าร้อง ฟ้าลั่นยังได้ยิน

แต่เสียงฟ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่มีใครได้ยิน พระองค์อยู่เหนือการเมือง จึงมีเรื่องอ้างอิงกัน เช่น ฟ้าผ่าธรรมนัส (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรฯและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ) ความจริงไม่ใช่ ไปแอบอ้างทั้งสิ้น

หรือฟ้าผ่านายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม) ความจริงก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆเลย

ความขัดแย้งที่ซับซ้อน ควรทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ใครปกป้องรัฐบาลย่อมมีสิทธิ์ทำได้ ประชาชนที่ปกป้องสถาบันเป็นหน้าที่และมีสิทธิ์ ควรแยกให้ชัดเจน ปกป้องสถาบันก็อย่ามายุ่งกับการเมือง อย่าไปดึงสถาบันลงมาเกี่ยว ไม่เช่นนั้นก็เกิดความสับสน ไม่เป็นธรรมต่อสถาบัน”

ยังไม่นับรวมสถานการณ์บ้านเมืองกำลังพัฒนาก็เกิดความซับซ้อนขึ้นมาอีก สหรัฐอเมริกาประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เชื่อมสองฝั่งมหาสมุทร เพื่อต่อต้านรัสเซีย-จีน-อิหร่าน-เกาหลีเหนือ

โดยต้องหาฐานที่ตั้ง บังเอิญอาเซียนอยู่ตรงกลาง ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงระหว่างชาติมหาอำนาจ ฝ่ายที่เข้ามาก็แสวงหาผู้สนับสนุน เมื่อมีผู้สนับสนุนย่อมมีผู้ต่อต้าน ซ้อนเข้ามาอีกปัญหา เกิดความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีก

วกเข้าการเมืองในสภา กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

ก่อนหน้านั้นจะมีการหักหลังโดยพรรคร่วมรัฐบาลจับมือโหวตคว่ำนายกฯออกไป ระหว่างที่ประชุมสภาพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เปิดประตูให้เจรจาปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ไม่มีปรับ ครม.-ไม่ยุบสภา-ผลโหวตไว้วางใจ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ระดับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ก็ไม่ถูกอภิปราย ผลมติอภิปรายออกมาแบบนี้คงจบชื่นมื่น อยู่ๆฟ้าผ่าปลดรัฐมนตรีที่ไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ่วงข้อหากบฏ โดยที่ พล.อ.ประวิตรไม่รู้เรื่องมาก่อน

และต่อด้วยที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาลงมติวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นกติกาที่ยกแผ่นดินให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล

ก่อนปลด รมช.เกษตรฯ มีโผแรกสั่งคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญส่งให้วิปปฏิบัติตาม ทุกคนเตรียมปฏิบัติตาม พอปลด รมช.เกษตรฯ โผสองสั่งพลิกให้ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ใครเป็นคนสั่งโผไม่รู้ แต่ผลการลงคะแนนของ ส.ว.กะเทาะเปลือกให้เห็นแก่น เดิมเชื่อว่า คสช.คุม 250 ส.ว. ซึ่งเป็นผู้กำหนดตัวนายกฯได้ ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว สภาพของ ส.ว.ไม่เหมือนเดิม

เห็นได้จากมีผู้ลงมติให้คว่ำเพียง 10 เสียง ซึ่งเป็นสายนายกฯ ส.ว.สายที่ให้ผ่านมี 149 เสียง 66 ส.ว.งดออกเสียง ชี้ให้เห็น ส.ว.แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มยืนยันโผเดิม กลุ่มโผใหม่ กลุ่มไม่ออกเสียง

ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯอีกรอบ โดยมี 250 ส.ว.สนับสนุนก็ไม่ใช่แล้ว

อำนาจของ คสช.-กลุ่ม 3 ป. ไม่เสถียร นายไพศาล บอกว่า เสถียรหรือไม่ รักกันหรือไม่ เราไม่รู้ แต่การกระทำของ ส.ว.เป็นความจริงที่ปรากฏให้เห็น

และยังได้เห็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐสั่งย้ายที่ทำการพรรค การบริหารจัดการพรรคแยกส่วนกับรัฐบาล การปลดรัฐมนตรีเป็นอำนาจของนายกฯ

ทำให้กระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ พล.อ.ประวิตรขยับเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าพรรค กลุ่มสามมิตรเป็นเลขาธิการพรรค ข่าวนั้นถูกความจริงวันนี้เปลี่ยนแปลงไป

สภาพที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องเกาะติดต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อรัฐบาลมีอำนาจปลดรัฐมนตรีได้ แต่ปลดตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ พรรคจะสนับสนุนต่อไปแค่ไหน ยังไม่เห็นความจริงนั้น

“ที่เห็นยังกลมเกลียวโอบกอดกัน หวานซึ้ง หยาดเยิ้ม ดุจดั่งเอาน้ำหอมทั้งขวดราดรดตัว คนที่ได้กลิ่นน้ำหอมจะถามว่าใช่เหรอแต่ก่อนไม่มีภาพเช่นนี้”

ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งต่อไปตามกติกาใหม่ เอื้อต่อพรรคการเมืองใหญ่ ถ้าพรรคพลังประชารัฐรวมพลังกันได้ก็มีขีดความสามารถเป็นพรรคใหญ่ได้ พรรคเพื่อไทยชำนาญกติกานี้อยู่แล้ว

หากเกิดพลิกผันและปรับความเข้าใจกัน

“เพื่อไทย” จับมือ “พลังประชารัฐ” แบบนี้ 100%

“ถึงบอกว่าธรรมนัสไม่ใช่ดาวพระเคราะห์ แต่เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัว แสงไฟน้อยย่อมสว่างในที่มืด ท้องฟ้ายามมืดมิดต้องการแสงสว่างจากดาวฤกษ์”

ถ้าถามถึงทางรอดประเทศ เสนอไปก็ไม่มีใครรับฟัง เพราะไม่มีใครน้อมใจแก้ปัญหา คนมีอำนาจก็ต้องการรักษาอำนาจ คนต้องการเปลี่ยนแปลงก็ต้องการความเปลี่ยนแปลง พวกต้องการขับไล่ก็เคลื่อนไหวบนท้องถนน

ต่างฝ่ายต่างทำตามที่กลุ่มตัวเองต้องการ เข้าตามมูลบทบรรพกิจว่าเอาไว้ พาราสาวัตถีไม่มีใครปรานีใครถือแต่ใจ ใครได้ใส่เอาพอ พาราสาวัตถี ใครไม่มีปรานีใคร ดุดื้อถือแต่ใจที่ใครได้ใส่เอาพอ

ยังไม่นับรวมวิกฤติโควิด วิกฤติเศรษฐกิจกำลังตั้งเค้า วิกฤติความขัดแย้งระหว่างประเทศ

โดยวิกฤติความขัดแย้งระหว่างประเทศ สหรัฐฯต้องการต่อต้านจีน-รัสเซีย-อิหร่าน-เกาหลีเหนือ เริ่มเปิดฉากในเมียนมา พวกหนึ่งช่วยฝ่ายต้าน เพื่อตั้งรัฐบาลหุ่น เชิญต่างชาติเข้าไปช่วย

อีกฝ่ายดึงจีนเคลื่อนทหารนับแสนประชิดชายแดน กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาโดยการช่วยเหลือของใครไม่ทราบ มีอาวุธเหนือกว่ารัฐบาลเมียนมา รัฐบาลเมียนมาก็ขอรัสเซียช่วย ซึ่งกำลังลำเลียงอาวุธเข้ามา

ถึงเดือน ต.ค. ทางเหนือเริ่มแล้ง ทัพใหญ่เมียนมาเคลื่อนทัพใหญ่ทำสงครามตี 3 ชนกลุ่มน้อยแน่ หากมีมือดียิงระเบิดตูมบนพื้นที่จังหวัดภาคเหนือของไทย ต่างชาติมีโอกาสอ้างสนธิสัญญาบางฉบับเข้าพื้นที่ภาคเหนือของไทย

ฉะนั้นการดำรงความเป็นกลาง ผู้นำต้องใช้สติปัญญา ความเฉลียวฉลาดอย่างมากและรู้เท่าทันสถานการณ์

เพราะปะทะที่ชายแดนไทย ไฟสงครามก็ลามเข้าประเทศ

ทำให้สถานการณ์ภายใน-ภายนอกล้วนซับซ้อนมากยิ่งขึ้น.

ทีมการเมือง