- คืนก่อนรัฐประหาร ทักษิณ พยายามอย่างสุดความสามารถแล้วที่จะต่อต้านการยึดอำนาจของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนไม่ทันการณ์
- ครบรอบ 15 ปี ไทยได้อะไรจากการทำรัฐประหารบ้าง ทำไมประชาธิปไตยของไทยเหมือนยังไม่เต็มใบสักที?
- เหตุใดหลังจากวันนั้น ไทยยังถูกทำรัฐประหารซ้ำอีก โดยไม่ปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ต่อไป แล้วให้การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นตัวตัดสินว่า รัฐบาลเดิมหรือคนใหม่ ใครจะได้ไปต่อ รวมถึงปล่อยให้กระบวนการตรวจสอบเดินตามครรลองตามที่ควรจะเป็นแทน
จำได้ไหม คืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 ตอนนั้นทำอะไรกันอยู่? รู้แต่ว่าเปิดทีวีไปช่องไหนก็มีแต่หน้า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นั่งอ่านแถลงการณ์อยู่หน้าจอโทรทัศน์แทบทุกช่อง เพื่อยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ปัจจุบันถูกถอดยศเหลือแค่นายทักษิณแล้ว
แล้วก่อนหน้านั้น เกิดอะไรขึ้น?
...
การโค่นล้มระบอบทักษิณ เกิดขึ้นจากคดีซุกหุ้นเมื่อปี 2544 ที่นายทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก จากการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า นายทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดความเป็นเจ้าของหุ้น โดยการโอนหุ้นที่มีอยู่ไปให้คนรับใช้ คนรถ และคนสวนถือแทน
จากนั้นวันที่ 3 ส.ค. 2544 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย มีมติด้วยเสียง 8 ต่อ 7 ว่า นายทักษิณไม่ได้มีเจตนาในเรื่องดังกล่าว แต่ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยในคำตัดสินของศาล ว่าอาจถูกแทรกแซงจากนายทักษิณหรือไม่ จนศาลรัฐธรรมนูญถูกร้องเรียน และตุลาการถึง 4 คน ถูกถอดถอนในเวลาต่อมา
แต่นายทักษิณก็สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกได้ครบเทอม จนถึง 11 มี.ค. 2548 และได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอีกครั้งในปีนั้น เนื่องจากได้รับคะแนนนิยมอย่างล้นหลามที่มองว่านายทักษิณเป็นนายกฯ ที่จับต้องได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรากหญ้าและต่างจังหวัด ที่เป็นฐานเสียงสำคัญ จนมาสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 แต่เส้นทางกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมักถูกนักวิชาการฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ
จุดเริ่มต้นการขับไล่ ทักษิณ
ปลายปี 2548 นายทักษิณถูกโจมตีอย่างหนัก จนถึงขั้นถูกขับไล่ให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยการนำของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่จัดรายการอย่างเผ็ดร้อน เรื่องปมการทุจริต กล้าเปิดหน้าท้าชน จนถูกพัฒนามาเป็น รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ คอนเสิร์ตการเมือง ที่รูปแบบเป็นการจัดรายการนอกสถานที่ มีผู้ชมเข้ามาร่วมฟังรายการสดได้ที่สวนลุมพินี
กระทั่งวันที่ 13 ม.ค. 2549 นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวก ได้พาผู้ชมกว่า 3,000 คน เดินเท้าจากสวนลุมพินีไปกดดันให้นายทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงทำเนียบรัฐบาล และบุกรุกเข้าไปภายใน มีการทำลายทรัพย์สินทางราชการ แต่ก็ถูกสลายการชุมนุมในคืนวันนั้น เนื่องจากวันต่อมา ทางทำเนียบรัฐบาลต้องใช้เป็นสถานที่จัดงานวันเด็กแห่งชาติ
ฟางเส้นสุดท้ายของการไล่ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
23 ม.ค. 2549 ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด (พีทีอี) หรือ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้เงินมากว่า 73,271 ล้านบาท
โดยถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายอย่างรุนแรงว่า ใช้อำนาจเอื้อต่อผลประโยชน์ของครอบครัว ไม่มีการเสียภาษีรายได้ และถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จุดม็อบติด ปลุกมวลชนออกมาประท้วงบนถนนขับไล่นายทักษิณออกจากตำแหน่งอย่างจริงจัง
ทำให้ นายทักษิณ ทนกระแสกดดันไม่ไหว ประกาศยุบสภาในวันที่ 24 ก.พ. 2549 แต่ยังคงสถานะรัฐบาลรักษาการ พร้อมประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ในวันที่ 2 เม.ย. 2549
ม็อบยังคงกดดันอย่างหนัก
แต่แล้วช่วงต้นเดือน มี.ค. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือม็อบเสื้อเหลือง นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้นำมวลชนปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้นายทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ ประกาศความต้องการให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 215 วรรคสอง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ จึงทำให้นายทักษิณประกาศว่าไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งได้
วันเลือกตั้งก็มาถึง
2 เม.ย. 2549 วันดันทุรังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แน่นอนว่าพรรคไทยรักไทยยังได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ชนะการเลือกตั้ง แต่ก็เกิดปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรื่องการฉีกบัตรเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีจำนวน ส.ส.ไม่ครบในสภา และถูก 3 พรรคฝ่ายค้านแฉว่า จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งเพื่อไม่ให้ขัดกฎหมายลูก โดยครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านคว่ำบาตรไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งด้วย
นายทักษิณจึงแสดงสปิริต โดยออกแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ของคืนวันที่ 4 เม.ย. 2549 ไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯ แม้จะได้คะแนนเสียงท่วมท้น แต่ตามรัฐธรรมนูญ สถานะก็ยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่มิชอบ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เป็นวันที่ 22 ต.ค. 2549 แต่ถูกพรรคประชาธิปัตย์ยื่นเอาผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ทำให้ กกต.ถูกพิพากษาต้องโทษจำคุก และออกจากตำแหน่งไปในวันที่ 25 ก.ค. 2549 จึงต้องมีการสรรหา กกต.ชุดใหม่ และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่อีกครั้งเป็นวันที่ 15 ต.ค. 2549
ม็อบผสมโรงความร้อนแรงทางการเมืองเมื่อ ทักษิณ ไม่อยู่ไทย
ระหว่างเดือน มิ.ย. 2549 เป็นต้นมา เกิดกระแสข่าวลือการทำรัฐประหารมาเป็นระยะๆ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ยิ่งทวีความร้อนแรง ผสมปนเปกับความวุ่นวายของการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ในช่วงเดือน ต.ค. 2549
ส่วนช่วง ก.ย. 2549 นายทักษิณยังติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศกว่า 10 วัน ตั้งแต่ 10-21 ก.ย. 2549 ท่ามกลางความกดดันของม็อบที่เตรียมจะปิดสนามบินเมื่อเดินทางมาถึงไทย
โดยในช่วงวันที่ 17-21 ก.ย. 2549 เป็นช่วงที่รัฐบาลไทยต้องเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แม้นายทักษิณจะติดประชุมดังกล่าว แต่วันที่ 18 ก.ย. 2549 ก็ยังสั่งประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้อยู่นอกประเทศก็ยังสั่งการได้
นอกจากนี้นายทักษิณยังถูกกลุ่มเสื้อเหลืองจำนวนหนึ่งยืนประท้วงขับไล่ที่หน้าโรงแรมที่พักในกรุงนิวยอร์ก ท่ามกลางกระแสข่าวลืออย่างหนักว่า จะเกิดการรัฐประหารที่กรุงเทพมหานคร
วันปฏิวัติ
เช้าวันที่ 19 ก.ย. 2549 ในกรุงนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเวลาค่ำของประเทศไทย นายทักษิณ รู้ตัวแล้วว่าจะถูกปฏิวัติ จึงสั่งทีมงานให้ถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีวีพูล มายังประเทศไทย เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหาร แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ จึงเปลี่ยนแผนถ่ายทอดสดมาที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 แทน เพราะมีนักข่าวจากช่อง 9 เดินทางไปทำข่าวด้วย และช่วยประสานให้ แต่ยังไม่ทันจะอ่านแถลงการณ์เสร็จสิ้น ก็ถูกตัดสัญญาณ
จากนั้นทีวีทุกช่องก็มีการถ่ายทอดสดการยึดอำนาจของ คปค. นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นแทน โดยอ้างว่า “การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทักษิณ ทำให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย”
จนนำมาสู่การประกาศแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ต.ค. 2549
ส่วน นายทักษิณ ชินวัตร ชีวิตหลังจากนั้นก็โดนคดีทางการเมืองอีกหลายคดี จนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน.
ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก : Chonticha Pinijrob