ต้องถือว่าเป็นการเปิดอภิปรายปัญหาข้าวไทย เมื่อนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เสนอให้รัฐบาลเลิกล้มนโยบายอุดหนุนราคาข้าว ถ้าต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ ในการส่งข้าวออกของโลก ต้องมุ่งการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้หลากหลาย และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น
แทนที่จะติดการประกันราคาข้าว หรือรับจำนำข้าวเพียงอย่างเดียว ที่พิสูจน์แล้วว่าการประกันราคาหรือการรับจำนำ ข้าว ไม่ได้ช่วยให้ราคาข้าวไทยดีขึ้น หรือมีผลผลิตเพิ่มขึ้น นายชูเกียรติแถลงว่าปี 2564 ข้าวไทยตกต่ำที่สุดทั้งด้านราคา และการส่งออก คาดว่าจะส่งออกไปเพียง 5.8 ล้านตัน
ไม่ถึง 6 ล้านตันตามเป้าหมาย ทั้งยังขายได้ราคาต่ำสุดใน 10 ปี ข้าวขาว 5% ขายได้ตันละ 404 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ข้าวเวียดนามขายได้ 437 ดอลลาร์ ข้าวอินเดีย 370 ดอลลาร์ ข้าวหอมมะลิ ที่เคยขายได้ตันละ 1,300–1,400 ดอลลาร์ ราคาตกเหลือ 700–713 ดอลลาร์ เพราะเจอคู่แข่งสำคัญคือข้าวหอมเวียดนาม
เมื่อหลายเดือนก่อน สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเคยรายงานว่า ข้าวไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันใน ตลาดโลก ไทยต้องสูญเสียตลาดข้าวโลกให้แก่อินเดียและเวียดนาม เนื่องจากประเทศคู่แข่งพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ขณะที่ข้าวไทยยังเหมือนเดิม แต่ราคาแพงกว่าคู่แข่ง แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่สนใจ
แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว รัฐบาลหรือ นักการเมืองไทย สนใจการปั่นราคาข้าวมากกว่า เพราะสามารถหาเสียงกับชาวนา ได้ นโยบายที่สร้างความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าว แต่ไม่ใช่ “รับจำนำ” เพราะรัฐบาลประกาศว่า “รับ ซื้อข้าว” จากชาวนาอย่างไม่อั้นในราคา ที่แพงกว่าตลาดมาก
โครงการรับจำนำข้าว ช่วยให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาสูงได้ชั่วระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดรัฐบาลก็รับไม่ไหว เพราะซื้อข้าวมาแพง แต่นำไปขายในราคาถูก ต้องขาดทุนมหาศาล จนไม่มีเงินซื้อข้าวต่อไป ซ้ำยังปล่อยให้มีการทุจริตในการขายข้าวที่รับจำนำให้ต่างประเทศ หรือ “จีทูจี” และยังมีการลักลอบนำออกขายภายในประเทศ
...
แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเลิกล้มการรับจำนำข้าว เปลี่ยนมาเป็นประกันราคา รวมทั้งพืชผลอื่นๆ ก็ยังเป็นนโยบายอุดหนุนราคา เพียงแต่ใช้งบประมาณน้อยกว่า แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มุ่งมั่นอย่างจริงจังในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวหลากหลาย เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และพัฒนาคุณภาพให้สามารถแข่งขันตลาดโลกได้.