มติ ครม. อนุมัติเพิ่มวงเงินเยียวยา ม.33 ให้ 13 จังหวัดแดงเข้ม ลูกจ้างรอรับคนละ 2,500 บาท จ่ายในเดือน ก.ย. แต่ยังไม่ระบุวัน
เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 7 ก.ย. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า มติ ครม. ที่สำคัญเรื่องหนึ่งในวันนี้ คือ การอนุมัติเงินเยียวยานายจ้างและลูกจ้างประกันสังคม ตามมาตรา 33 ใน 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) มี 2 ส่วน คือ
อนุมัติวงเงินเพิ่ม 862.2 ล้านบาท จาก 17,050.4 ล้านบาท เป็น 17,912.6 ล้านบาท สำหรับการเยียวยานายจ้างและลูกจ้างตามมาตรา 33 ที่มีการขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ซึ่งกำหนดไว้ภายในวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา มีนายจ้างเพิ่มขึ้น 18,900 ราย ลูกจ้างเพิ่มขึ้น 400,375 คน
อนุมัติวงเงินเพิ่มอีก 16,103.3 ล้านบาท สำหรับการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง มาตรา 33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม เพิ่มเติม 1 เดือน เป็นเดือนที่ 2 (ส.ค.) แบ่งเป็น
- นายจ้าง 194,660 ราย จ่ายให้ 3,000 บาทต่อหัวต่อคน ไม่เกิน 200 คน เป็นจำนวนเงิน 7,252 ล้านบาท
- ลูกจ้าง มาตรา 33 จำนวน 3,538,530 คน จ่ายให้ 2,500 บาทต่อคน เป็นเงิน 8,846.3 ล้านบาท
- เริ่มจ่ายเงินเยียวยาภายในเดือน ก.ย. นี้
สำหรับพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ประกอบด้วย
- กรุงเทพมหานคร
- นครปฐม
- นนทบุรี
- ปทุมธานี
- สมุทรปราการ
- สมุทรสาคร
- ฉะเชิงเทรา
- ชลบุรี
- พระนครศรีอยุธยา
- นราธิวาส
- ปัตตานี
- ยะลา
- สงขลา
...
ส่วนภาพรวมการจ่ายเงินเยียวยาตาม มาตรา 33, 39 และ 40 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งจ่ายเงินเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนด่วน ซึ่งกระทรวงแรงงานจ่ายเงินไปแล้ว 41,160.86 ล้านบาท คิดเป็น 97%
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 16,965.5 ล้านบาท เดิมที่อนุมัติไปแล้ว (เมื่อวันที่ 10 ส.ค.) จำนวน 17,050.4 ล้านบาท ทำให้โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดในระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.- ส.ค.) และในพื้นที่ 16 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน (ส.ค.) มีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 34,015.9 ล้านบาท
“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังห่วงใยกลุ่มผู้ขับแท็กซี่และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันมาตรา 40 เนื่องจากมีคุณสมบัติอายุเกินที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างครอบคลุมด้วย”