รองโฆษกรัฐบาล เผย ศบค.ชุดใหญ่ หารือผ่อนคลายมาตรการศุกร์นี้ ร้านอาหารอาจเปิดได้ 50% ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ร้านนวดฝ่าเท้า เดินทางข้ามจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม อาจผ่อนปรนด้วย
วันที่ 25 ส.ค.2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ “แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล” ว่า วันที่ 27 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาผ่อนคลายมาตรการที่พร้อมจะเปิดให้บริการประชาชนได้แล้วหรือไม่ เช่นร้านอาหาร โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องของร้านอาหาร ผู้ประกอบการอยากให้มีการผ่อนคลาย คือเปิดให้บริการได้ 50% ทาง ศบค.ก็รับฟังข้อคิดเห็นตรงนี้ และก็คิดว่าด้วยจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อลดลงต่ำกว่า 2 หมื่นรายมา 2-3 วัน แนวโน้มก็อาจจะเปิดให้บริการทั้งร้านอาหาร หรือธุรกิจอื่นๆ ได้ ในส่วนร้านอาหารที่คาดว่าจะเปิดได้ ก็ไม่ได้ให้เปิดทั้งหมด แต่จะเปิดได้ 50% ประกอบกับดำเนินการมาตรการอื่นประกอบ เช่น เว้นระยะห่าง อากาศถ่ายเท พนักงานปลอดโรคโดยได้รับวัคซีน 2 เข็ม หรือกรณียังไม่ได้รับวัคซีนต้องตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทุก 3-7 วัน พร้อมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ขณะที่ประชาชนที่มารับบริการต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว เป็นต้น ทั้งนี้เป็นหลักการที่กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ ศบค. หากมีการอนุมัติผ่อนคลาย หรือมีเงื่อนไขที่ร้านอาหารหรือประชาชนต้องทำอะไรบ้าง ขอให้ติดตามผลการประชุมอีกครั้ง
...
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอมาตรการผ่อนคลายการเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสามารถเดินทางได้ รวมถึงการปรับมาตรการกิจการในห้างสรรพสินค้า เปิดกิจการ กิจกรรมบางประเภท เช่น ร้านเสริมสวย ร้านนวดฝ่าเท้า ปรับการใช้อาคารของสถานศึกษา และการเปิดใช้สนามกีฬา ทั้งนี้ขอให้ติดตามผลการประชุม ศบค.อีกครั้ง
"นอกจากนั้นทุกพื้นที่ยังคงปิดสถานบริการ สถานบันเทิง และสถานบริการอื่นในลักษณะคล้ายกัน" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังได้มีมติ สำหรับมาตรการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยให้เปิดเป็นจุดๆ ไปตามความพร้อม โดยประชาชนต้องฉีดวัคซีนครบ ให้มีภูมิคุ้มกัน รวมถึงตรวจหาเชื้อเชิงรุก และดำเนินมาตรการ Universal Prevention หรือการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่เราทำอยู่แล้ว เช่น ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น กลุ่มเสี่ยงงดออกจากบ้าน เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น เพื่อเตรียมตัวให้ประเทศเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน เมื่อได้รับวัคซีนและมีผู้ป่วยไมเกินกว่าศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ หลังจากนี้เราต้องเรียนรู้การปรับใช้ชีวิตให้อยู่กับโควิด ในอนาคตโควิดอาจเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ที่คนเป็นเองแล้วก็หายได้ ซึ่งในหลายประเทศมีมาตรการลักษณะแบบนี้ที่ประชาชนเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับโควิด.