• "ผบ.ทร." จัดส่งโผโยกย้ายในส่วน "ทัพเรือ" ถึงมือ "ผบ.ทหารสูงสุด" โดยดัน "บิ๊กโต้ง" พล.ร.อ.ธีรวุฒิ กาญจนะ เสธ.ทร. (ตท.21) ผงาดขึ้นเป็น "แม่ทัพเรือ" คนใหม่แทน
  • สัญญาณร้อนจาก ศาลาว่าการกลาโหม ที่ "บิ๊กณัฐ" พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดฯกลาโหม (ตท.20) พยายามผลักดัน "บิ๊กเฒ่า" พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดฯกลาโหม (ตท.20) ข้ามกลับมาเป็น ผบ.ทร. โดยอ้างความชอบธรรม ความเหมาะสม อาจส่งผลกระทบ เกิดปัญหาขัดแย้งตามมา
  • คนในถิ่นวังเดิม "ทัพเรือ" ปิดกั้นคนนอกหน่วย ที่จะข้ามฟากมานั่งเป็น "ผบ.ทร." โดย "บิ๊กอุ้ย" เสนอรายชื่อคนในหน่วยขึ้นเป็น "แม่ทัพเรือ" เพื่อสานงานต่อ แต่เป็น สำนักปลัดฯกลาโหม เองที่ปิดกั้นคนในหน่วยตัวเองขึ้นเป็น "ปลัดฯกลาโหม"


แม้โผรายชื่อโยกย้ายนายทหารของ "กองทัพเรือ" จะจบไปแล้ว ด้วยการที่ "บิ๊กอุ้ย" พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. ได้เสนอชื่อ "บิ๊กโต้ง" พล.ร.อ.ธีรวุฒิ กาญจนะ เสธ.ทร. (ตท.21) ขึ้นแท่นเป็น "แม่ทัพเรือ" คนใหม่ แต่ยังมีสัญญาณร้อนจากฟากศาลาว่าการกลาโหม ที่ "บิ๊กณัฐ" พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดฯกลาโหม (ตท.20) มีความพยายามต่อสาย เพื่อเสนอเงื่อนไขในการส่ง "บิ๊กเฒ่า" พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดฯกลาโหม (ตท.20) ข้ามฟากสนามหลวง ล่องเจ้าพระยาเพื่อกลับมาเป็น "ผบ.ทร." โดยระบุเหตุผลในเรื่องความชอบธรรม อาวุโส ความเหมาะสม และความสามารถ

จึงเกิดปฏิกิริยาร้อน จนระอุขึ้นมาในถิ่นพระราชวังเดิมของคนใน "กองทัพเรือ" ที่ปิดประตูไม่เอาคนนอก พร้อมกับรักษาเก้าอี้ และตำแหน่งดังกล่าวไว้สำหรับคนใน "ทัพเรือ" เท่านั้น ประกอบกับลูกประดู่รวมพลังประกาศสกัดคนนอกที่จะข้ามห้วยมานั่งเก้าอี้ "นาวี1" ด้วยเหตุผลตำแหน่งในกองทัพเรือ ยังจัดสรรไม่ลงตัว ยิ่งมีการดันคนนอกหน่วยกลับมาชิงตำแหน่งอีก จะเกิดผลกระทบและปัญหาตามมา

...

เมื่อย้อนดูเส้นทาง พล.ร.อ.สมประสงค์ ที่เติบโตในการรับราชการในถิ่นกองทัพเรือมาตลอด กระทั่งติดยศ "พลเรือเอก" ในตำแหน่ง "ที่ปรึกษาพิเศษ ทร." จนเมื่อตุลาคม 2562 พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.ขณะนั้น ได้ดัน พล.ร.อ.สมประสงค์ ออกนอกกองทัพเรือ เพื่อข้ามมารับตำแหน่ง รองปลัดฯกลาโหม (อัตราพลเรือเอกพิเศษ) เนื่องจากต้องการวางตัว พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน จาก ผช.ผบ.ทร. ให้ขึ้นเป็น "ผบ.ทร." เพื่อสานต่อโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ

ขณะเดียวกัน พล.ร.อ.สมประสงค์ เมื่อออกจากถิ่นวังเดิม ก็นั่งในเก้าอี้ "รองปลัดฯกลาโหม" จนครบ 2 ปี และถือเป็นผู้อาวุโสสูงสุดในศาลาว่าการกลาโหม และเหมาะที่จะขึ้นตำแหน่ง "ปลัดฯกลาโหม" แต่เนื่องจากนโยบายในตำแหน่งดังกล่าว "กองทัพบก" ได้ยึดโควตา และไม่ยอมปล่อยให้คนในเครื่องแบบ "ทหารเรือ-ทหารอากาศ" ขึ้นมาครองเก้าอี้ "ปลัดฯกลาโหม" จึงจำเป็นต้องดัน พล.ร.อ.สมประสงค์ ออกนอกเส้นทาง เพื่อปิดกั้นคนนอกเครื่องแบบ ทบ.

และเพื่อเปิดทางให้ "บิ๊กหน่อย" พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ เสธ.ทบ. (ตท.20) เพื่อนร่วมรุ่น ได้ข้ามห้วยจากถิ่นมัฆวาน มานั่งในตำแหน่งปลัดฯกลาโหม แต่เนื่องจากอาวุโสน้อยกว่า พล.ร.อ.สมประสงค์ จึงเกิดเกมดันข้ามห้วย เพื่อให้ออกนอกหน่วย และหาที่ลง นอกสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม

ในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานสภากลาโหม รู้ปัญหาดังกล่าวดี และ "อดีตบิ๊กทหาร" หลายคนเคยเสนอแนะ ทุกตำแหน่งควรเปิดโอกาสให้ทุกเหล่าทัพ เสนอคนที่มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสม เจริญเติบโตในหน่วย ต้นสังกัดที่ไปอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง "ปลัดฯกลาโหม" หรือ "ผบ.ทหารสูงสุด" ไม่ควรที่จะปิดกั้นคนในเครื่องแบบทหารเรือ ทหารอากาศ ได้ขึ้นเป็น ผบ.หน่วยนั้นๆ เพราะต่างก็จบจาก ร.ร.เตรียมทหาร มาด้วยกัน

จึงมีคำถามคาใจหาก พล.อ.ประยุทธ์ จะแก้ปัญหาจริง ก็ควรไม่ปิดกั้นคนในเครื่องแบบทหารเรือ ทหารอากาศ ในการขึ้นนั่งในตำแหน่ง "ปลัดฯกลาโหม"

ดังนั้นการส่ง พล.ร.อ.สมประสงค์ ข้ามห้วยกลับมายัง "กองทัพเรือ" หาก พล.ร.อ.ชาติชาย ไม่ยอมในเงื่อนไขดังกล่าว ก็อาจจะต้องมีการโหวตในคณะกรรมการ 7 เสือกลาโหม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน และคณะกรรมการประกอบด้วย รมช.กลาโหม ปลัดฯกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด และผบ.เหล่าทัพ แต่ที่ผ่านมาจะให้เกียรติ ผบ.เหล่าทัพ ที่เสนอคนของตัวเองขึ้นมารับธง ทำงานสานต่อนโยบายเดิม

จึงเป็นไปได้ที่ พล.ร.อ.สมประสงค์ อาจจะต้องถูกเขี่ยออกไปอยู่ตำแหน่ง "จเรทหารทั่วไป" ที่เป็นหน่วยขึ้นตรงกับ "รมว.กลาโหม" หรือไม่ก็ถูกส่งไปนั่งเป็น "รอง ผบ.ทหารสูงสุด" เพื่ออยู่ใต้บังคับบัญชา "บิ๊กแก้ว" พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด (ตท.21) ที่มีความอาวุโสกว่า

ดังนั้นหาก พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดฯกลาโหม ยังต้องการดัน พล.ร.อ.สมประสงค์ ข้ามกลับฝั่ง "กองทัพเรือ" จริง ก็ถือเป็นการปิดโอกาสไม่ให้ พล.ร.อ.สมประสงค์ เติบโตในตำแหน่ง "ปลัดฯกลาโหม" ที่เป็นหน่วยตัวเอง

เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหน พล.ร.อ.สมประสงค์ ก็เหมาะกว่าจะข้ามไปให้เกิดประเด็นและปัญหาขัดแย้งใน "ทัพเรือ" และเป็นการลงตัวที่สุดแล้ว ในการขึ้นในสำนักงานปลัดฯกลาโหม และปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิด คลื่นลมก็จะสงบ

อย่างไรก็ตาม การประชุมบอร์ด 7 เสือกลาโหม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้นัดประชุมหารือวันที่ 25 ส.ค. แต่กลับถูกเลื่อนไป เนื่องจากอ้างในเรื่องเวลาไม่พอ เพราะมีการประชุมสภากลาโหมก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณบอกว่า การจัดโผครั้งนี้อาจยังไม่ลงตัว แม้เหล่าทัพจะดำเนินการจัดส่งไปถึงมือแล้วก็ตาม

ขณะเดียวกันบรรยากาศในถิ่นวังเดิมเริ่มรู้แล้วว่า พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อในส่วนกองทัพเรือไปถึงมือ "ผบ.ทหารสูงสุด" เพื่อนำอบต่อให้ "รมว.กลาโหม" ด้วยการเสนอชื่อ "บิ๊กโต้ง" พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสธ.ทร. ขึ้นแท่นเป็น "ผบ.ทร." เป็นไปตามหลักและธรรมเนียมในการเสนอชื่อคนในหน่วย

ซึ่งถ้าหากโผรายชื่อออกมาเช่นนี้ จะทำให้ "บิ๊กโต้ง" จะนั่งเป็น "แม่ทัพเรือ" คนแรกของ ตท.21 และจะอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี มีเวลาในการสานงานต่อ และบริหารทัพเรือถึงปี 2566

นอกจากนี้ พล.ร.อ.ชาติชาย ยังได้จัดตำแหน่ง 4 ฉลาม ทร.ใหม่ทั้งหมด โดยโยก "บิ๊กปู" พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผบ.กองเรือยุทธการ (ตท.22) หนึ่งในแคนดิเดตที่ตีคู่มากับ พล.ร.อ.ธีรกุล ก่อนหน้านั้นในการชิงเป็น ผบ.ทร. ขยับขึ้นเป็น รอง ผบ.ทร. โดยมี พล.ร.อ.ภราดร พวงแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. (ตท.21) ขยับเป็น ประธานคณะที่ปรึกษา ทร.

แล้วส่ง พล.ร.ท.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 (ผบ.ทรภ.3) ตท.22 เป็น ผช.ผบ.ทร. พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทรภ.1) ตท.23 ขึ้นเป็น เสธ.ทร. พล.ร.ท.ไกรศรี เกษร ผบ.ร.ร.นายเรือ (ตท.20) ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.)

พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ รอง เสธ.ทร. (ตท.23) เป็น รอง ผบ.กองเรือยุทธการ พล.ร.ท.วุฒิชัย สายเสถียร รอง เสธ.ทร. (ตท.22) ขยับเป็น ผบ.ร.ร.นายเรือ พล.ร.ท.สุวิน แจ้งยอดสุข รองหัวหน้า ฝสธ.ผบ.ทร. (ตท.25) เป็น ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ พล.ร.ต.สรไกร สิริกรรณะ รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (รองผบ.นย.) ตท.21 ขึ้นเป็น ผบ.นย.

พล.ร.ต.พิชัย ล้อชูสกุล เจ้ากรมช่างโยธาทหารเรือ (ตท.24) ข้ามเป็น ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทรภ.1) พล.ร.ต.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ (ตท.23) รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 เป็น ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 (ผบ.ทรภ.2) พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 (ตท.24) ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 (ผบ.ทภร.3)

บทสรุปโผร้อนของกองทัพเรือ ที่ "บิ๊กอุ้ย" ยืนกรานเสนอชื่อ "บิ๊กโต้ง" ขึ้นไป เพื่อให้รับธงสานงานบริหารพัฒนาถิ่นวังเดิมต่อ แต่ยังมีความต้องการจากฟากกลาโหมที่ต้องการจะเปลี่ยนตัว ดังนั้นเก้าอี้นี้จะจบลงที่ใคร ตรงไหน คงต้องรอผลหลังประกาศรายชื่อว่า "ผบ.ทร." ยังเป็นคนที่ถูกเสนอชื่อหรือไม่

ผู้เขียน :  คชสีห์ 88

กราฟิก : sathit chuephanngam