ชื่อเขตหลักสี่ ของกรุงเทพมหานคร

เอนก นาวิกมูล เคยตั้งสมมติฐานว่า น่าจะเป็นหลักบอกระยะทางรถไฟ พยายามค้นคว้าอยู่หลายเดือน จนได้คำตอบแน่ชัดว่า “หลักสี่” เป็นหลักบอกระยะทางของ “คลองเปรมประชากร”

(หนังสือหลักฐานบ้านเมือง เอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์แสงดาว)

บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2408 ว่า ร.4 จะทรงพระกรุณาให้ขุดคลอง...

“ตั้งแต่วัดพระนางเชิง ตัดท้องทุ่งดอนเมือง ตรงตลอดมาโดยลำดับ มาออกตรงวัดโสมนัสวิหาร... ”

หมอบลัดเลย์ ผู้เขียนข่าวให้ความเห็นว่า

“ข้าพเจ้ายินดีด้วยเป็นนักหนา เพราะคลองขุดใหม่จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ราษฎรจะได้อาศัยทำนา อันเป็นผลไม้มีเมล็ดข้าว มีภาษีงอกเงยขึ้น”

นอกนั้นคือราษฎรจะได้มาชวนกันตั้งบ้านเรือน อยู่อย่างเป็นสุขสบายด้วย

ที่ว่าตั้งแต่วัดพระนางเชิง หรือวัดพนัญเชิงนั้น ไม่ได้ทำ คงตัดย่อลงมา เริ่มที่ใกล้เกาะเกิด ต.บางกระสั้น ซึ่งอยู่ใต้ลงไป

ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุด เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชาย เป็นแม่กอง และให้พระชลธารวินิจฉัย (กัปตันฉุน) เป็นผู้ปักหมายกรุย แล้วจ้างจีนขุด

เริ่มขุดตั้งแต่ พ.ศ.2412 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2413 รวมใช้เวลาขุด 18 เดือน ถือเป็นคลองขุดสายแรกของรัชกาลที่ 5 เมื่อขุดเสร็จแล้ว โปรดให้จัดพระราชพิธีฉลองคลอง มีมหรสพต่างๆ มากมาย

“พระราชทานชื่อว่า คลองเปรมประชากร ต่อเนื่องจากคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งขุดขึ้นในรัชกาลที่ 4 แล้วนั้น

เอนก นาวิกมูลบอกว่า เสาหรือเครื่องบอกระยะริมคลอง ยังไม่แน่ใจว่าสมัยอยุธยา หรือสมัย ร.1-2-3 เคยทำไว้หรือไม่ มาพบหลักฐานอีกที ก็สมัย ร.4

ตัวอย่างเช่น คลองมหาสวัสดิ์ ขุดเมื่อ พ.ศ.2403 มีการสร้างศาลาริมคลองไว้ทุก 100 เส้น หรือทุก 4 กม.  สำหรับคนเดินทางได้พักผ่อน แต่ศาลาเหล่านี้ถูกรื้อทิ้งไปหมดแล้ว คงเหลือไว้แต่ชื่อศาลาบางหลัง

เช่น ศาลายา และศาลาทำศพ ที่แผลงเป็นศาลาธรรมสพน์

ศาลาบอกระยะริมคลอง เอนกเข้าใจว่าน่าจะมี เพราะยังมีชื่อสถานีตำรวจหลักสอง (เลยบางแคไปหน่อย) เป็นพยานอยู่

มาถึงกรณี เสาริมคลองเปรมประชากร เอนกว่า ริมคลองเปรมประชากร เคยมีเสาบอกระยะทุก 100 เส้น หรือ 4 กม.

เพราะเคยอ่านพบข้อความที่คนรุ่นเก่าเขียนเอาไว้ เช่น ในเพลงนายตาบ บุตรสุนทรภู่ แต่งเมื่อคราวตามเสด็จ ร. 5 ไปยังกรุงเก่า เมื่อปี พ.ศ.2414

ตามแถวคลองร้อยเส้นเห็นหลักมี บอกวิถีทุกระยะที่จะไป

กาพย์รถไฟหลวง แต่งโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) แต่งราวปี 2460

พระอุบาลีใช้ภาษาถิ่นแต่งเป็นกาพย์ อ่านแล้วเข้าใจยาก เอนก นาวิกมูลถอดความตอนที่อธิบายถึงหลักสี่ว่า...ท่านว่าอันหลักสี่นั้น มาจากพระเจ้าแผ่นดินให้ปักกรุยวัดเชือกมาจากข้างกำแพงกรุงเทพฯ มายังเขตกรุงเก่า หรืออยุธยา (ที่บางปะอิน)

ที่ว่าเขตกำแพงกรุงเทพฯ ท่านหมายถึงคลองคูเมืองรอบนอก หมายถึงคลองผดุงกรุงเกษม

ระหว่างขุดคลอง รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปักหลักเป็นเครื่องหมายทุก 100 เส้น ไปจนสิ้นสุดทาง แต่กาลนานมา หลักเหล่านั้นหักหายเสียเกลี้ยง คงเหลือชื่อ เพียงหลักสี่ หลักหก

ครั้นตั้งสถานีรถไฟ พวกรถไฟก็เอาชื่อ หลักสี่กับหลักหก มาตั้งเป็นสถานีหลักสี่และหลักหกขึ้น

ต่อจากหลักสี่ เป็นสถานีดอนเมือง พระอุบาลีฯท่านเว้าสั้นๆว่า แถบนี้เป็นบริเวณเนินทรายอันกว้างใหญ่ ไม่มีภูเขา พระเจ้าแผ่นดิน (รัชกาลที่ 6) จึงโปรดให้สร้างสนามบิน เพื่อให้เครื่องบินขึ้นลง

“เรื่องดอนเมือง ขอให้สังเกตว่า เป็นที่ดอนอันกว้างใหญ่ น้ำท่วมไม่ถึง จึงเหมาะแก่การสร้างสนามบิน ส่วนหนองงูเห่าทางจังหวัดสมุทรปราการ ที่สร้างสนามบินสุวรรณภูมิ มีคนตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนแล้วว่า ขึ้นต้นด้วยหนอง ย่อมหมายถึงเป็นที่ลุ่ม จึงต้องถมที่ดินกันอุตลุด” เอนก นาวิกมูลว่า

นิราศสุโขทัย แต่งโดยคุณหญิงเขื่อนเพชรเสนา หรือคุณหญิงส้มจีน อุณหะนันทน์  เมื่อ พ.ศ.2473

อ่านตัวอย่างบางบทแล้วเห็นบรรยากาศริมคลองเปรมฯ สมัยนั้น

“ถึงบางเขนเลนมากต้องลากเข็น เรือติดเลนหรือเช่นเข็นซุงเสา ก็พอจะเข็นได้สบายเบา แต่ว่าเจ้าความรักนี้หนักครัน”

“ถึงหลักสี่มีนาธัญญาไสว ขอขอบใจชาวนามหาศาล”และ “อันหลักสี่นี้นามยังงามอยู่ หลักหนึ่งสองสามไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน...”

“ถึงหลักหกจีนยกร่องทำสวน แต่ผักล้วนแลลิ่วเป็นทิวไสว ในท้องร่องปลูกข้าวไม่เปล่าไป เขาทำได้ประโยชน์คล่องทั้งสองทาง การขยันขันข้อแล้วหนอเจ๊ก งานใหญ่เล็กไม่เลือกคลำทำทุกอย่าง ที่สุดขนอุจจาระไม่ระคาง...”

เอนก นาวิกมูลค้นหลักฐานจากวรรณกรรมแล้ว ปี พ.ศ.2445 ก็ออกค้นหาหลักริมคลองเปรมประชากร ยังไม่พบหลักฐานว่าหลักนั้นทำด้วยหินหรืออะไร แต่เข้าใจเอาว่าคงจะทำด้วยศิลาเหมือนหลักริมคลองดำเนินสะดวก

ไม่พบกระทั่งใคร...สักคน ที่สามารถบอกตำแหน่งหลักได้ ว่าเคยอยู่ที่ไหนกันแน่

ท้ายสุด เอนก นาวิกมูลเสนอให้ผู้สนใจ ช่วยกันหาหลักบอกระยะริมคลองเปรมประชากร ถ้าพบจะได้นำมาสงวนรักษา ใช้เป็นจุดขายในการท่องเที่ยว

วิธีหาหลัก...ก็ทำอย่างง่าย กำหนดจุดจากปากคลองเปรมฯ ตรงข้ามวัดโสมนัสไปทีละ 4 กม. ได้ระยะ 4 กม.เมื่อใดก็ทำเครื่องหมายขุดค้นไว้เป็นระยะๆ จนกว่าจะถึงปลายคลองด้านบางกระสั้น

เอนกตั้งความหวังว่า เราน่าจะหาสมบัติเก่าชุดนี้ กลับคืนมาได้?

...

บาราย