"อนุทิน" ย้ำอีกครั้ง ปม พ.ร.ก.คุ้มครองบุคลากรสาธารณสุข มุ่งสร้างความมั่นใจผู้ปฏิบัติหน้าที่สุจริต อัดคนหัวขี้เท่อ จ้องแต่เล่นการเมือง-บนความเหนื่อยล้าคนทำงาน

จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมออก (ร่าง) พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนกลายเป็นกระแสดราม่า เมื่อฝ่ายการเมืองมองว่า เป็นการนิรโทษกรรม คณะบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 

โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ยังไม่มีกฎหมายออกมา เพราะอยู่ระหว่างการฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ก่อนเสนอเข้า ครม.ต่อไป แต่ที่มาแน่ๆแล้วคือโควิดที่ระบาดไปทั่วโลก และมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอด กระทบกับแผนในการควบคุมโรคในทุกมิติ ซึ่งเป็นปัญหาที่นานาชาติกำลังประสบ ในประเทศไทยบุคลากรด้านการสาธารณสุขทำงานกันหนักมาก ตั้งแต่โลกรู้จักโควิด ไทยก็เริ่มดำเนินการเพื่อแก้ไขอย่างเร่งด่วน แพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านการสาธารณสุข ทำงานกันอย่างหนักหนาสาหัส สิ่งที่ต้องทำ คือ ให้คนทำงานมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ต้องการให้ต้องกังวลเรื่องการถูกฟ้อง ทั้งที่ทำด้วยใจบริสุทธิ์ ทำอย่างสุดความสามารถ 

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายการเมือง ออกมาระบุว่า การออกกฎหมายดังกล่าว เป็นการดึงแพทย์มาบังหน้า ลักไก่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมรัฐบาล ในการบริหารโควิด-19 ที่ผิดพลาด นายอนุทิน กล่าวว่า จะลักไก่ได้อย่างไร แล้วจะนิรโทษกรรมใคร เพราะ (ร่าง) พ.ร.ก.ดังกล่าว ส่วนหนึ่งทางองค์กรวิชาชีพ สภาวิชาชีพต่างๆ สมาคม รพ.เอกชน แพทยสภา ก็เสนอให้มีกฎหมายลักษณะนี้ เพื่อป้องกันคนทำงานที่อาจถูกฟ้องร้องจากการปฏิบัติหน้าที่ เพราะตัวโรคโควิดเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การรักษาไม่มียาเวชภัณฑ์เฉพาะโรค ไม่มีแนวทางเฉพาะทาง แต่คนทำงานต่างหวังดี อยากรักษาทุกคนให้ปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องการรักษาหรือการจัดการวัคซีน เป็นงานของแพทย์ ข้าราชการประจำ ฝ่ายการเมืองทำในเรื่องสนับสนุนภารกิจ กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ทำเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ทำเพื่อปกป้องบุคลากรสาธารณสุขให้เกิดความมั่นใจ ไม่ต้องวิตกกังวลต่ออนาคต และแน่นอนต้องมีเจตนาสุจริตในการทำงาน 

...

"ด้วยประสงค์ของ พ.ร.ก.เพื่อป้องกันคนหัวใสฟ้องร้องเอาผิดคนทำงาน แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีคนหัวขี้เท่อ จ้องเล่นแต่การเมืองบนความเหนื่อยล้าของคนทำงาน แพทย์หรือจิตอาสาที่เข้ามาทำงานด้วยความเต็มใจ ร่างดังกล่าวชัดเจนว่าเราไม่ได้ออกมาเพื่อคุ้มครองใครคนใดคนหนึ่ง  และในคณะทำงานยก (ร่าง) พ.ร.ก.ก็ไม่ได้มีแค่หน่วยงานกำกับของกระทรวงฯ แต่ยังมีภาควิชาชีพ และภาคกฎหมายเข้ามาร่วมดูแลกฎหมายฉบับนี้ด้วย ทุกอย่างทำตามขั้นตอน ด้วยเจตนาเพื่อดูแลคนทำงาน" นายอนุทิน กล่าว