- คนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่สื่อก็ต้องตรวจสอบให้ดีก่อน เพราะสื่อหลักพูด บุคคลทั่วไปเชื่อถือ จึงต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าคนปกติ
- แล้วในสถานการณ์แบบนี้ อะไรที่ทำได้บ้าง และทำไม่ได้บ้าง ตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ที่จะไม่เป็นการสร้างความตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวในสังคม กระทบความมั่นคงต่อรัฐ
- ส่วนเรื่องดารา Call Out ยังทำได้อยู่หรือไม่ หากเป็นการเรียกร้องและวิจารณ์แบบ Frankly (อย่างตรงไปตรงมา) บนพื้นฐานความเป็นจริง เรื่องวัคซีนยังพูดได้อยู่ไหม แล้วอะไรที่เข้าข่ายเฟกนิวส์ หรือเข้าองค์ประกอบความผิด
ช่วงโควิดระบาดหนัก และยอดผู้ติดเชื้อกำลังพุ่งสูงต่อเนื่อง ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ดารา นักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ ออกมา Call Out เรียกร้องวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 3 ให้กับบุคลาการทางการแพทย์จำนวนมาก รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างดุเดือดเผ็ดมัน เรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ล้มเหลว หลังพบผู้ป่วยโควิด-19 นอนเสียชีวิตอย่างอนาถริมถนน
...
จากนั้น วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ได้ออกมาเตือนผู้ใช้สื่อออนไลน์ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการโพสต์ เพราะหากเป็นข้อความเท็จ สร้างข่าวปลอม ถือว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 จนเกิดกระแสวิจารณ์ตีกลับอย่างรุนแรงในสังคม
ผ่านมาแค่วันเดียว(22 กรกฎาคม 2564) นายชัยวุฒิ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เท่าที่ได้ดูการ Call Out ออกมาเรียกร้องต่างๆ ของดารา ยังไม่เข้าข่ายความผิด และรัฐบาลเข้าใจความคิดเห็นในเชิงไม่พอใจของคนทั่วไป
แต่เรื่องเหมือนกับย้อนแย้ง สวนทางกับคำพูด เมื่อราชกิจจานุเบกษา ประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29)ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 สั่งห้ามเผยแพร่ข้อความที่สร้างความหวาดกลัว ทั้งในหนังสือ สิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต พร้อมให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระงับอินเทอร์เน็ตได้ทันที
เรื่องนี้แน่นอนว่าสร้างความไม่พอใจให้ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกรทะรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ผอ.ศบค. อาจกำลังลิดรอนและคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน ทำให้นายชัยวุฒิ เตรียมเรียก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าหารือ และยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนและประชาชน เพียงแค่ต้องการให้การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นไปด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง ส่วนข้อกำหนดที่ออกมานั้น เจตนาสำคัญเพื่อดำเนินการกับผู้ที่ทำตัวเสมือนเป็นสื่อมวลชน หรือสื่อเทียม ไร้สังกัด
สื่อมวลชนออนไลน์อีกกลุ่ม จึงตัดสินใจไปยื่นฟ้องศาลถึงคำสั่งดังกล่าว สุดท้าย ศาลแพ่ง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้าม พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจดังกล่าว เพราะเป็นการกำหนดลักษณะที่ไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ซึ่งกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อีกทั้งยังมีกฎหมายอื่นหลายฉบับที่ใช้ดำเนินการได้
แล้วสื่อเทียมในมุมมองรัฐบาลเป็นอย่างไร
นายชัยวุฒิ ระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะนิยาม แต่สื่อมวลชนจริงๆ จะมีใบอนุญาตประกอบกิจการจากทาง กสทช. และมีบัตรประจำตัวสื่อมวลชน ที่ทางกรมประชาสัมพันธ์ออกให้ อีกทั้งยังเป็นสมาชิกจากสมาคมวิชาชีพสื่อต่างๆ
"แล้วแต่ใครจะนิยามกัน บางทีก็เป็นนักข่าวอิสระ บางทีก็เปิดเฟซบุ๊ก ให้ข้อมูลนู่น นี่ นั่นไป แล้วแต่ ก็มีหลายรูปแบบ แต่ความจริงแล้วจะต้องดูครอบคลุมทุกสื่อเท่ากันหมด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่ไม่มีการกำกับดูแล แต่จริงๆ ผมไม่ได้มีหน้าที่กำกับสื่อ กระทรวงดีอีเอสไม่ได้มีหน้าที่กำกับสื่อ เราดู พ.ร.บ.คอมพิเตอร์ เฟกนิวส์" นายชัยวุฒิ กล่าว
ในสถานการณ์แบบนี้ อะไรที่ทำได้บ้าง
นายชัยวุฒิ ระบุเพิ่มเติมว่า หากประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนมีการโพสท์เนื้อหาเท็จ ก็ต้องโดนหมด แต่จริงๆแล้วขณะนี้เรื่องการแสดงออกและความคิดเห็น สามารถทำได้ เพราะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่าทำอะไรที่เป็นเฟกนิวส์ หรือข่าวปลอม ตามกฎหมายของกระทรวงดีอีเอส ซึ่งบางเรื่องอาจพูดเรื่องเดียวกัน แต่บางคนอาจผิดและบางคนอาจไม่ผิด ดังนั้นต้องดูที่วิธีการพูด เนื้อหา ข้อเท็จจริง ส่วนสื่อมวลชนก็จะต้องมีความระมัดระวังในการเสนอข้อมูลมากกว่าบุคคลทั่วไป เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะสื่อหลักพูด บุคคลทั่วไปเชื่อถือ สื่อเองจึงต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนและรับผิดชอบมากกว่าคนปกติ
"ถ้าเป็นเรื่องจริง การวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นทางการเมือง มันก็สามารถทำได้ มันเป็นสิทธิอยู่แล้ว หรือการแสดงความเดือดร้อนอะไรก็ว่าไป พวกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอยู่แล้ว เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งดาราที่ออกมา Call Out ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้โดนคดี นอกจากที่เป็น เฟกนิวส์ หรือใช้คำพูดที่มันบิดเบือนหรือเข้าองค์ประกอบความผิด ก็ไม่ได้โดนทุกคน อยู่ที่ภาษาที่ใช้ เจตนา" นายชัยวุฒิ กล่าว
โพสต์เฟกนิวส์ โทษสูง คุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อมาดูบทลงโทษในความผิดมาตรา 14 เรื่องการนำข้อมูลที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ระบุไว้ว่า จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากส่งผลถึงประชาชน พร้อมแบ่งความผิดออกเป็น 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. การนำข้อมูลเท็จ ทุจริต หลอกลวง หรือ ปลอม เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน
2. การนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัย สาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
3. นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือการก่อการร้าย
4. นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีลักษณะอันลามก
5. เผยแพร่ส่งต่อ(แชร์) โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลตามทั้ง 4 ข้อด้านบน
ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่เป็นการกระทำที่ส่งผลต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในเรื่องนี้สามารถยอมความกันได้
ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการเอาผิดบุคคลที่กระทำผิดซ้ำไปแล้วหลายคดี และปัจจุบันก็ยังสอดส่องเอาผิดผู้กระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวอยู่ แม้จะมีจำนวนมากก็ตาม
ทำหน้าที่สื่อได้ แต่อย่าให้ผิดกฎหมายอื่นก็แล้วกัน
ส่วนที่ศาลแพ่ง มีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ทางฝั่งกฎหมายของรัฐบาล อย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลไว้ว่า ข้อบังคับนี้ก็ต้องหยุดชั่วคราว ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนสามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ว่าอย่าให้ผิดกฎหมายอื่นก็แล้วกัน เพราะมันยังมีกฎหมายอื่นอีกมากที่ศาลได้บอกเอาไว้
ขณะที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะผู้ปฏิบัติร่วมในกฎหมายดังกล่าว ยังไม่มีการกำหนดที่แน่ชัด ว่าจะนัด 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มาหารือในเรื่องนี้วันใด
ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก : THEERAPONG.C