สรุปย้ำ ข้อกำหนดมาตรา 9 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 30 ขยายมาตรการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว จำกัดการเดินทาง 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ถึง 31 ส.ค. ประเมินทุก 14 วัน
วันที่ 1 ส.ค. 2564 จากกรณีที่เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า มีการปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) เพิ่มอีก 16 จังหวัด รวมเป็น 29 จังหวัด และใช้มาตรการเข้มงวดทั้งล็อกดาวน์ งดออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน (เคอร์ฟิว) ตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. การจำกัดการเคลื่อนย้าย รวมถึงมาตรการอื่นๆ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2564 ไปอีก 14 วัน และจะพิจารณาทบทวนประเมินอีกครั้งในวันที่ 18 ส.ค. แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจจะต้องขยายต่อไปจนถึง 31 ส.ค. นั้น
ล่าสุดช่วงกลางดึกวันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดกรบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30) โดยมีข้อความระบุในบางช่วงบางตอน ว่า
ข้อ 2 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อการชะลอและลดแนวโน้มความรุนแรงของการระบาดที่จะเกิดขึ้นจากการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุขซึ่งเห็นสมควรให้ดำเนิ่นมาตรการเพื่อมุ่งจำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลต่อเนื่องไป จึงกำหนดให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ได้แก่
...
การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทาง การห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น การขนส่งสาธารณะ การปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน และมาตรการควบคุมบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องออกไป สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564
และข้อ 11 การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการตามข้อกำหนดนี้ทุกห้วงระยะเวลา 14 วัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป.