ศบค.แจงรายละเอียดผู้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาค พบตัวเลขไม่ตรงกับที่รัฐบาลแถลงไปก่อนหน้าจำนวนหนึ่ง โดยเอกสารระบุปรับเปลี่ยนตามจำนวนที่ได้รับส่งมอบ

วันที่ 1 ส.ค. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยรายละเอียดเรื่องการพิจารณาแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ของแผนการบริหารจัดการวัคซีน Pfizer บริจาค มาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 1,503,450 โดส

โดยระบุรายละเอียดถึงหลักเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย อ้างอิง มติการประชุมคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนโควิด-19 วันที่ 24 และ 30 ก.ค. 2564 ดังนี้

1. บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน) จำนวน 700,000 โดส จำนวน 700,000 ราย โดยต้องมีชื่อปรากฎในฐานข้อมูลระบบกระทรวงสาธารณสุข ว่า ได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็มแล้ว อย่างน้อย 4 สัปดาห์ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และยังไม่ได้รับวัคซีน AStraZeneca เป็นเข้มกระตุ้น

2. ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีสัญชาติไทย ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค อายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จำนวน 645,000 โดส จำนวน 322,500 ราย ในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

3. ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้เดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียนไทย และทูต จำนวน 150,000 โดส จำนวน 75,000 ราย โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานประสานหลัก

4. ทำการศึกษาวิจัย (ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม) จำนวน 5,000 โดส จำนวน 2,500 ราย โดยกรมควบคุมโรคเป็นผู้พิจารณา ที่คำนึงถึงประโยชน์ในด้านการควบคุมโรคของประเทศเป็นสำคัญ

...

5. สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ Beta จำนวน 3,450 โดส จำนวน 1,725 ราย ในพื้นที่ระบาด

ซึ่งจำนวนตัวเลขรวมในวันนี้ 1,503,450 โดส แตกต่างเป็นคนละตัวเลขจากเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ทางฝั่งรัฐบาล ระบุว่าได้รับจำนวน 1,540,000 โดส
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

โดยในรายงานของ ศบค. ระบุว่า จำนวนวัคซีนที่จัดสรรสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์การระบาดของโรค และแจ้งเพิ่มเติมว่าในข้อที่ 5 มีการปรับเปลี่ยนตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับส่งมอบ เมื่อ 30 ก.ค. 2564

ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปสอบถาม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จำนวนตัวเลขดังกล่าวทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รายงานในที่ประชุม ศบค. ส่วนเรื่องรายละเอียดต้องสอบถามกรมควบคุมโรค

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อไปที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แต่ระบุว่า ไม่สะดวกให้สัมภาษณ์เนื่องจากขับรถอยู่ ส่วน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ยังไม่สามารถติดต่อได กรณีมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป.