สรุปสาระสำคัญ ราชกิจจานุเบกษา ออกข้อกำหนด ห้ามเสนอข่าวเท็จ ทำให้คนหวาดกลัว กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพื่อให้เกิดความสงบในสังคม
จากกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่ขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศออกไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ทั้งนี้ เนื่องจาก
1. มีการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ที่อาจทำให้คนเกิดความหวาดกลัว หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความสับสน เข้าใจผิด ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง จนเกิดความเสียหาย หรือเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น การรักษาความสงบ หรือ การรักษาสุขภาพของประชาชน ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต จึงออกข้อกำหนด 2 ข้อ
2. ข้อกำหนดข้อที่ 1. ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความทำให้คนหวาดกลัว หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย
3. ข้อกำหนดข้อที่ 2. กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความ หรือข่าวสารตามข้อ 1 บนอินเทอร์เน็ต ให้ สำนักงาน กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตทราบ เพื่อตรวจสอบว่า ข้อความดังกล่าวว่ามาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่ให้บริการอยู่ ให้แจ้งรายละเอียดกับ กสทช. ทราบ เพื่อระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่หมายเลขไอพีนั้นทันที
4. เมื่อดำเนินการแล้วให้ กสทช. ส่งรายละเอียดให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ หากผู้รับใบอนุญาตรายใด ไม่ทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ให้ กสทช. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
5. ประกาศฉบับนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม เป็นต้นไป
6. ประกาศดังกล่าวออกมา เพื่อให้มาตรการที่กำหนดในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง และมีความรับผิดชอบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวมในสถานการณ์ฉุกเฉิน
...