หนุ่มบ้านนอกรุ่นผม รู้จักชีวิตชาววังกะเขาบ้าง ก็เมื่อได้อ่าน “สี่แผ่นดิน” ที่อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ท่านเขียนให้ติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง

เรื่องที่ผมอึ้ง...และอมยิ้มไปด้วยก็เพราะนึกไม่ถึง ส.พลายน้อย เอาประสบการณ์ใหม่ของแม่พลอย นางเอกของเรื่อง ตอนถูก “แม่ช้อย” พาไปทำความรู้จักกับอุโมงค์

ในหัวข้อเรื่อง “สรีรสำราญ” (รู้ร้อยแปด เล่ม 2 สำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ.2544) นำเสนอ ด้วยการยกเอาตอนที่แม่พลอยเข้าวังใหม่ๆ

พลอยเป็นเด็กสาวคลองบางหลวง ซึ่งเป็นสวนและบ้านขุนนางข้าราชการ ชีวิตของพลอยอาจจะต่างไปจากเด็กชาวสวนอื่นๆบ้างในบางเรื่อง เช่น การขับถ่าย

ชาวสวนอาจจะหลบไปทางท้ายสวนที่ปลอดคน หรือทำส้วมหลุมไว้นอกบ้าน แต่พลอยเป็นลูกสาวพระยาพิพิธฯ การที่จะทำเช่นนั้นจึงดูไม่เหมาะ น่าจะมีที่มิดชิดดีกว่านั้น

ครั้นเมื่อพลอยเข้าไปอยู่ในวังวันแรก ปวดท้องจะขับถ่าย ช้อยจึงพาไปที่อุโมงค์ ซึ่งอยู่ทางกำแพงพระราชวังด้านใต้ ใกล้ประตูที่จะออกไปตลาดท่าเตียน

ในอุโมงค์นั้น มีทางเดินกลาง สองข้างยกพื้นสูงพอก้าวขึ้นลงได้ ตั้งถังข้างล่างตลอดเป็นแถว ยกพื้นกั้นฝาเป็นคอกสำหรับบังได้เฉพาะตัวคน ซึ่งเมื่อลงนั่งยองๆแล้ว ฝานั้นก็กั้นขึ้นมาเสมอพ้นหน้าอกเล็กน้อย

ในคอกที่กั้นไว้บนยกพื้นนั้น มีคนนั่งโผล่หน้าให้เห็น

ส.พลายน้อยอธิบายว่า อุโมงค์สำหรับผู้หญิงชาววังถ่ายทุกข์

ที่บรรยายไว้ในสี่แผ่นดิน เป็นส้วมสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ใช้ถังรองรับสิ่งปฏิกูลกันแล้ว

คำว่าอุโมงค์ เข้าใจว่าจะเรียกกันตามลักษณะที่เห็น เป็นภาษาปาก แต่โบราณเรียกกันว่า สรีรสำราญ คำนี้หมายความว่าทำให้ร่างกายสบาย ปล่อยทุกข์ออกจากร่างกายแล้วก็สบาย

ในกลอนเพลงยาว เรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ มีกลอนตอนหนึ่ง

...

“ครั้นถึงที่สรีรสำราญซานเข้าไป ออกสักอ่างวางใจค่อยได้สุข...”

ชื่อสรีรสำราญ เรียกกันมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ในครั้งนั้นกล่าวกันว่าไม่ได้ใช้ถัง เป็นการถ่ายลงในคลองเลยทีเดียว อาจใช้เป็นอาหารปลาไปบ้าง

พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) วิจารณ์ว่า ส้วมสำหรับชาววัง น่าจะอยู่ริมแม่น้ำนอกกำแพงด้านเหนือ แต่เหตุใดจึงเอาไว้ในคลองท่อ น้ำที่ไขเข้าไปในสระบรรยงก์รัตนาสน์นั้น น่าจะปฏิกูลพออยู่

พวกผู้หญิงที่เข้าอุโมงค์หรือสรีรสำราญดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่เจ้านาย เป็นคนธรรมดาสามัญ ถ้าเป็นเจ้านายเข้าใจว่าจะมีภาชนะพิเศษรองรับ และมีคนเชิญเอาไปทิ้ง

มีเรื่องกล่าวไว้ในมณีพิไชย ตอนที่พวกสนมแต่งเพลงยาว ตามกลอน ตอนแรก เป็นของฝ่ายชายเหน็บแนมว่า

“เมื่อวันน้องออกมาเทกระทงคูถ ดูหน้าบูดเหมือนคุณเผือกเอาเกือกตบ”

ฝ่ายหญิงชาววัง ก็โต้กลับสะใจไม่แพ้กัน “ถึงเทกระทงก็เป็นวงศ์ของเทวัญ เชื้ออสัญแดหวาราคาแพง”

อาจารย์ ส. พลายน้อยบอกว่า ตามที่ทราบ เจ้าหน้าที่จะเตรียมทำกระทงเจิมไว้ถวายในหลวง วันละสามใบ เมื่อทรงบังคนแล้ว เจ้าพนักงานก็จะเชิญกระทงคูถไปลอยน้ำ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าดูเป็นที่อุจาดนัก จึงโปรดให้ยกเลิก

ผมจงใจเลือกเรื่องสรีรสำราญมาให้อ่านคลายสมอง อีกนัยเพราะอยากจะบอกว่าเรื่องที่อาจดูว่าอุจาดนั้น ยังน่าฟังกว่าเรื่องที่ นักการเมืองเขายังตั้งหน้าก่นด่า เพื่อชิงอำนาจการเมืองกัน

เฮ่ย! สถานการณ์บ้านเมืองหนักหนาขนาดนี้...ถ้าไม่ออกมาออกแรงช่วยอะไร หุบปากเอาไว้ยังน่ารักน่าเลือกกว่ามากเลยนะ พ่อคุณแม่คุณ.

กิเลน ประลองเชิง