"ปิยบุตร" ชี้คนรุ่นใหม่ยึดหลักการมากกว่าตัวบุคคล ระบุใครไม่เอานายกฯพระราชทานต้องยืนยันไม่เอานายกฯตาม 272 วรรคสองด้วย แนะ 2 ทางเลือก "บิ๊กตู่" ยุบสภา-ลาออก รัฐบาลใหม่ ทำภารกิจเฉพาะกิจ 1 ปี 

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.64 นายปิยบุตร เเสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสเทรนด์แฮชแท็กในทวิตเตอร์ล่าสุด เรื่องไม่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทานว่า สะท้อนถึงความต้องการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สนใจการเมืองและสนับสนุนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน พวกเขายึดมั่นหลักการมากกว่าตัวบุคคล ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ออกไป และได้คนที่พวกเขาชื่นชอบมาเป็นนายกฯ โดยไม่เป็นไปตามครรลองของระบบแล้ว พวกเขาก็ไม่สนับสนุน นอกจากนั้นแล้วยังสะท้อนไปถึงข้อเรียกร้องเรื่องระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลของเขา หมดเวลาแล้ว ประสบกับวิกฤติความชอบธรรมจนถึงที่สุด ประชาชนไม่เชื่อมั่นอีกต่อไป จึงควรต้องออกจากตำแหน่ง เพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลใหม่ มาทำหน้าที่ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯแล้ว นายกฯคนใหม่จะมาจากทางไหนนั้น ปัญหาน่าปวดหัวข้อนี้สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบเพื่อการสืบทอดอำนาจจนมาสู่ทางตัน 

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนเสนอ 2 ทางเลือก คือ หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง และให้สภาเลือกนายกฯคนใหม่แทน จากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเท่าที่เหลืออยู่ โดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่นี้ ต้องตกลงกันให้แน่ชัดว่า มีภารกิจเฉพาะกิจในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อทำสองเรื่อง คือ แก้ไขวิกฤติโควิดให้ดีขึ้น จนเข้าที่เข้าทางพอสมควรพอประคับประคองต่อไปได้ และแก้ไขรัฐธรรมนูญในสองประเด็น ได้แก่ ปิดสวิตช์ ส.ว.และเปิดทางให้มี ส.ส.ร.มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเมื่อแก้ไขในสองประเด็นนี้แล้ว แม้ยังไม่ได้เลือก ส.ส.ร.หรือแม้เลือก ส.ส.ร.แล้ว แต่ยังทำฉบับใหม่ไม่เสร็จ ก็สามารถยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ไปก่อนได้ เพราะอย่างน้อย ส.ว.ก็หมดอำนาจเลือกนายกฯไปแล้ว โดยภารกิจสองเรื่องนี้ใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี 

...

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ทางที่สอง คือ ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือก ส.ส. เลือกรัฐบาลใหม่ ที่จะเข้ามารับหน้าที่แก้วิกฤติโควิด และแก้รัฐธรรมนูญ และให้แต่ละพรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบาย เรื่องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ด้วย จริงอยู่ทางที่สองนี้ อาจประสบปัญหา ส.ว.250 คน ไม่ยอมดับสวิตช์ ยังมีอำนาจเลือกนายกฯอยู่ แต่ตนคิดว่าด้วยสถานการณ์การเมืองตอนนี้ ด้วยแรงของประชาชนที่ไม่พอใจและก่นด่า ส.ว. รัฐบาลสืบทอดอำนาจ และรัฐธรรมนูญ 60 แบบนี้ จะทำให้ ส.ว.ไม่กล้าที่จะเข้ามาแทรกแซงในการเลือกนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.เองก็น่าจะพร้อมผนึกกำลังปิดสวิตช์ ส.ว. มากกว่ารอบที่แล้ว

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องนายกรัฐมนตรีพระราชทานนั้น เป็นปมปัญหาของการเมืองไทยมาตลอด ไม่ว่าวิกฤตินั้นจะเกิดขึ้นเองหรือสมคบคิดสร้างขึ้นมา ก็จะมีกระแสเรียกร้อง นายกรัฐมนตรีพระราชทานทุกครั้งไป ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ในระยะหลัง เมื่อมีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทีไร ก็จะมีข้อเสนอให้เขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อรับรองให้มีนายกฯคนกลางบ้าง นายกฯคนนอกบ้าง ตอนใช้รัฐธรรมนูญ 40 ก็มีการเสนอให้ตีความมาตรา 7 เพื่อมีนายกฯพระราชทาน ตอนทำรัฐธรรมนูญ 50 ก็มีข้อเสนอใน ส.ส.ร.ตอนนั้นว่า ต้องมีมาตราที่เปิดทางให้มีองค์กรอรหันต์มาแก้วิกฤติการเมือง แต่เรื่องนี้ตกไป 

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ในช่วง กปปส.ชุมนุมนั้น ก็มีการอธิบายให้ระบบถึงทางตัน เพื่อนำไปสู่นายกฯพระราชทาน พอมารัฐธรรมนูญ 60 คราวนี้ไปกันใหญ่ พวกเขาคงทราบดีว่า ในอนาคตถ้าหากต้องการเสนอนายกฯพระราชทานกันอีก ก็จะถูกโต้แย้งเรื่องขัดรัฐธรรมนูญบ้าง ขัดหลักการบ้าง อย่ากระนั้นเลย พวกเขาจึงบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญเสียเลย ในมาตรา 272 วรรคสอง เปิดทางให้มีนายกฯนอกบัญชีได้ นี่คือการติดตั้งนายกฯพระราชทานเข้าไปในรัฐธรรมนูญ 

"ทำไมผมถึงพูดเช่นนี้ ถ้าเราลองอ่าน 272 วรรคสองดู จะเห็นได้ว่าต้องลงคะแนนกันถึงสามรอบ รอบแรกกึ่งหนึ่งของสองสภาเพื่อเสนอเรื่อง รอบ 2 คือ สองในสามของสองสภา เพื่อมีมติอนุญาตให้ยกเว้นการเลือกนายกฯจากบัญชี รอบ 3 กึ่งหนึ่งของสองสภา เพื่อมีมติเลือกคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี ลองคิดดูว่าจะมีปัจจัยใดที่ส่งผลบังคับให้ทั้ง ส.ส.ทั้ง ส.ว.สมัครสมานลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกัน ที่มากขนาดนี้ถึงสามรอด้งนั้นผมจึงยืนยันว่า นายกฯที่มาจากช่องทาง 272 วรรคสอง ไม่ใช่นายกฯตามระบบแน่ๆ ใครก็ตามที่ยืนยันว่าไม่เอานายกฯพระราชทาน ก็ต้องยืนยันต่อไปด้วยว่า ไม่เอานายกฯตาม 272 วรรคสอง" นายปิยบุตร กล่าว