รมว.ทส. เผย พื้นที่ป่าเพิ่ม ใน “วันป่าชายเลนโลก” ยกเป็นผลงานประชาชน “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” เตรียมแผนร่วมภาคเอกชนเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อส่งเสริมแบ่งปันคาร์บอนเครดิตในอนาคต
วันที่ 26 ก.ค.64 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณี (UNESCO) กำหนดให้ 26 ก.ค.ทุกปี เป็นวันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน หรือ “วันป่าชายเลนโลก” ว่า ตนเคยย้ำหลายครั้งถึงความสำเร็จในการดูแลและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยว่า เป็นเพราะความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกคนที่ช่วยกันดูแลและรักษาผืนป่าชายเลนของประเทศไทย จนเป็นข่าวดีจากการอ่านแปลภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดปี พ.ศ.2563 ของ GISDA พบว่า พื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ เนื้อที่ 1.74 ล้านไร่ เพิ่มจากปี พ.ศ.2557 ที่มีอยู่ 1.53 ล้านไร่ ได้พื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ไร่ คงเป็นไปได้ยากหรืออาจต้องใช้เวลานานมาก ที่หน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว จะดำเนินการให้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นได้มากขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ทุกคนอยากเห็น คือ พื้นป่าชายเลนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ทุกปี ตนยังเชื่อมั่นในพลังของพี่น้องประชาชนที่จะช่วยกันดูแล รักษา อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
...
ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายและย้ำกับ นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการหามาตรการและแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชน องค์กรเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น และในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าชายเลนให้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน และเนื่องในวันป่าชายเลนโลก ตนอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคนว่า “วันป่าชายเลนโลก เป็นวันที่เตือนสะท้อนความสำคัญของป่าชายเลนต่อมวลมนุษยชาติ ป่าชายเลนสร้างสมดุลให้ธรรมชาติ สร้างประโยชน์ให้มนุษย์ตั้งแต่ชายขอบป่า จนถึงยอดเขาสูงสุดของประเทศ จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ความร่วมมือของทุกภาคส่วน คือ กลไกสำคัญที่จะเพิ่มผืนป่าสมบูรณ์อันทรงคุณค่าให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนของพวกเขาอย่างยั่งยืนต่อไป” นายวราวุธ กล่าวย้ำ
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมฯ ได้ดำเนินการในทุกมิติอย่างจริงจังมาโดยตลอด นอกจากนี้ได้เตรียมประกาศพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะและชายฝั่งแห่งชาติแล้วจำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ระนอง เพชรบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี ปัตตานี ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศบังคับใช้ ต่อไป และเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 4 ฉบับ ว่าด้วยการเพาะชำกล้าไม้เพื่อแจกจ่าย การปลูกและบำรุงป่าชายเลน การจัดหาและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ป่าชายเลน และการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นแนวทางและมาตรฐานในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน นอกจากนี้การปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก ยังมุ่งเน้นและส่งเสริมการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนด้วย โดยในปัจจุบันมีพื้นที่พร้อมดำเนินการกว่า 7,000 ไร่ ซึ่งเรื่องนี้ตนได้มอบหมายให้ นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เร่งรัดดำเนินการ เรื่องฟื้นฟูป่าชายเลนและการปลูกบำรุงป่าเพื่อแบ่งปันคาร์บอนเดรดิตให้เป็นรูปธรรมและเป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อยอดในอนาคตต่อไป
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ (International Society for Mangrove Ecosystems) กล่าวว่า วันที่ 26 ก.ค.ของทุกปี เป็นวันป่าชายเลนโลก นับว่าเป็นวันสำคัญของประชาชนชาวโลกและของโลกเป็นอย่างยิ่ง ป่าชายเลนพบเห็นได้ใน 120 ประเทศทั่วโลกที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ป่าชายเลนมีคุณค่าและความสำคัญนานัปการทั้งเป็นแหล่งฟักไข่ การเจริญเติบโตและหลบภัยของสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นแหล่งอาหารสำคัญของชุมชนชายฝั่ง เป็นแหล่งสมุนไพรยารักษาโรค เป็นแหล่งพลังงานช่วยดักตะกอนสิ่งปฏิกูลและสารพิษที่จะถูกปลดปล่อยลงสู่ชายฝั่งและทะเล ช่วยป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ลดความรุนแรงของคลื่นลมและที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง คือ เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่มีปริมาณสูงมากในการช่วยลด สภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาค่อนข้างวิกฤติของโลกในทุกวันนี้ สำหรับสถานการณ์ป่าชายเลนในประเทศไทยผมขอชื่นชมเป็นอย่างยิ่งต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับป่าชายเลนทั้งทางด้านอนุรักษ์ ปกป้อง ดูแล รักษา และฟื้นฟู และการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางสู่ประชาชนทุกภาคส่วนจนในปัจจุบันพบว่าพื้นที่ป่าใช้เลนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในทุกพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศ และที่สำคัญไปกว่านั้นทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้สร้างความเข้าใจ ความตระหนัก และจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์และการฟื้นฟู รวมถึงต่อการดูแล รักษา ปกป้องในประชาคมทุกภาคส่วนสูงมาก กิจกรรมดีๆ ที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ป่าชายเลนซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่าและสำคัญของชายฝั่งทะเลไทย สามารถอนุรักษ์ รักษา ป้องกัน และเอื้ออำนวยประโยชน์กับประชาชนของประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป ประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ กล่าวแสดงความมั่นใจ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ พ.ศ.2558 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำหนดให้วันที่ 26 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น วันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน หรือ “วันป่าชายเลนโลก” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน สำหรับผลงานความสำเร็จด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลนของประเทศไทย.