• ล็อกดาวน์ครั้งหนึ่งต้องควักเป็นหมื่นล้านแสนล้าน แต่วัคซีนที่ดีต่อให้แพงแค่ไหนก็ถูกกว่าการเยียวยา
  • วัคซีนทางเลือกไม่ควรจะมีแต่แรก นี่คือวัคซีนชนชั้น พร้อมตั้งคำถามคนจนไม่มีสิทธิ์ได้วัคซีนดีหรือ
  • เวลาหมดไปตั้งนานแล้ว “คุณประยุทธ์” ไม่มีความสง่างามที่จะเป็นผู้นำ ไม่สามารถพาประเทศไปต่อข้างหน้าได้

    สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ (19 ก.ค. 2564) ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมเก้าผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือที่เรียกขานกันสั้นๆ ว่า “ศบค.” ต้องออกประกาศคำสั่งทั้งล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว งดการเดินทางข้ามจังหวัด ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด รวมถึงปิดกิจกรรมกิจการต่างๆ ที่ถูกระบะว่าเป็นจุดเสี่ยงใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) หวังที่จะลดยอดผู้ติดเชื้อที่ปัจจุบันอยู่ในหลักหมื่นลงให้ได้

...

วัคซีนที่ดีแพงแค่ไหนก็ถูกกว่าการเยียวยา

ขณะที่มาตรการต่างๆ รวมถึงการเยียวยาจะสามารถทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงได้จริงหรือไม่ ชวนไปฟังมุมมองและความคิดเห็นของ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ว่า ขณะนี้ประชาชนยังใช้ชีวิตปกติอยู่พอสมควร ซึ่งโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ก็แพร่กระจายและติดเชื้อเร็วมาก ล็อกดาวน์รอบนี้ดูหลวม ไม่ได้แน่นหนาเหมือนอย่างรอบแรก (เม.ย. 2563) และส่วนตัวไม่คิดว่าการล็อกดาวน์รอบนี้จะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลง แต่กลับมองว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังขึ้นต่อไปอีก

“ล็อกดาวน์ครั้งหนึ่งต้องควักเป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้าน มันแพงมากนะการเยียวยา แต่วัคซีนที่ดีต่อให้แพงแค่ไหนก็ถูกกว่าการเยียวยาแน่นอน ดังนั้น การซื้อวัคซีนที่ดีที่มันป้องกันได้ ถ้ามันแพงกว่าราคาปัจจุบันเท่าตัว อย่างไรก็คุ้มกว่าการเยียวยาเป็นครั้งๆ อยู่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคืออะไร พอไม่เกิด Herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ กราฟขึ้นปุ๊บล็อกดาวน์ ล็อกดาวน์ปุ๊บเยียวยา ก็จะวนลูปอยู่อย่างนี้ ตราบใดที่คุณไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ครบ จะต้องเยียวยามหาศาล ประเทศจะต้องเป็นหนี้สิน ประเทศจะต้องกู้เงินอีกมหาศาลเพื่อเอามาใช้กับลูปนี้”

ล็อกดาวน์เข้มต้องควบคู่เยียวยาเหมาะสม

เมื่อผู้ติดเชื้อรายใหม่ขึ้นสูงจนสถานการณ์แย่ก็ล็อกดาวน์ ล็อกดาวน์เสร็จเยียวยา กลับมาดี ดีเสร็จก็ลุ้นใหม่ว่าผู้ติดเชื้อรายวันจะสูงขึ้นเมื่อไหร่ นี่คือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนที่ดีอย่างเพียงพอ ถามว่าสถานการณ์นี้ทำอย่างไร คงต้องบอกว่า ต้องทำหลายเรื่อง ต้องตรวจให้มากกว่านี้อีกหลายๆ เท่า และแยกผู้ติดเชื้อให้เร็ว ดูแลผู้ป่วยให้ดีกว่านี้ รวมถึงแยกผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงออกมาจากชุมชน ต้องมีที่ให้ประชาชนติดต่อง่ายสะดวกสบาย ส่วนวัคซีนต้องหาให้ได้มาก เร็ว และหลากหลายกว่านี้ ถ้าจำเป็นล็อกดาวน์เข้มก็ต้องทำ เพียงแต่การล็อกดาวน์เข้มจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเยียวยาอย่างเหมาะสมด้วย เวลาออกแบบมาตรการต้องคำนึงถึงมาตรการสาธารณสุข มาตรการเศรษฐกิจ มาตรการทางสังคม ไปด้วยกัน คือต้องคิดพร้อมกันถ้าจะล็อกดาวน์ใครได้รับผลกระทบบ้าง ต้องเยียวยาอะไรบ้าง ต้องคิดและประกาศออกมาพร้อมกันคนถึงจะให้ความร่วมมือ เมื่อคิดมาตรการต่างๆ เหล่านี้แล้ว จะต้องคิดอีก 2 เรื่อง คือ

1. ความได้สัดได้ส่วนของมาตรการ ถ้ามาตรการล็อกดาวน์แรง มาตรการเยียวยาก็ต้องสูง ไม่อย่างนั้นคนจะไม่ยอมร่วมมือ เพราะล็อกดาวน์แล้วรายได้หายไปมาก แต่เงินเยียวยาไม่เพียงพอ ไม่คุ้มกับรายได้ คนก็พร้อมที่จะต่อต้านมาตรการเหล่านั้น คือความได้สัดส่วน ความเหมาะสมของมาตรการทางเศรษฐกิจและมาตรการทางสาธารณสุขต้องใกล้เคียงกัน

2. หลักคิดเรื่องความเท่าเทียม เรื่องนี้สำคัญ ต้องปฏิบัติกับคนทุกคนอย่างเท่าเที่ยมกัน ไม่ใช่ปฏิบัติกับคนจนแบบหนึ่ง คนรวยแบบหนึ่ง อุ้มนายทุนแบบหนึ่ง แล้วดูแลคนจนอีกแบบหนึ่ง ถ้าทำด้วยหลักแบบนี้ไม่มีใครพอใจให้ความร่วมมือกับมาตรการ

จะเป็นวาระแห่งชาติอย่างไรถ้าหาวัคซีนไม่ได้

ส่วนเรื่องที่มีการออกมาเปิดเผยจาก นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) จะขอขยายการส่งวัคซีนออกไปจนถึง พ.ค. 2565 ก่อนที่ในเวลาต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีการแก้ต่างว่าแอสตราเซเนกายังพยายามส่งตามกำหนดเดิม แต่หากช้าออกไปก็น่าจะประมาณต้นปี 2565 จนเกิดคำถามในสังคมว่าการฉีดวัคซีนเป้าหมาย 100 ล้านโดสในสิ้นปี 2564 ของรัฐบาลจะยังเป็นไปได้จริงหรือ ซึ่ง ธนาธร ระบุว่าเป็นคำถามที่สำคัญมาก แทบจะเรียกว่าสำคัญที่สุดก็ได้ในประเทศไทยตอนนี้ เป็นเหตุผลที่ทำไมถึงต้องมาเรียกร้องการเปิดสัญญาวัคซีน ทั้งที่เคยฉีดได้หลักมากกว่า 400,000 โดสต่อวันมาแล้ว ปัญหาคือวัคซีนไม่มา หรือพูดง่ายๆ คือวัคซีนแอสตราเซเนกาจาก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (Siam Bioscience : SBS) ไม่มา

ขณะที่เมื่อโยงไปถึงเป้าหมายการเปิดประเทศใน 120 วัน (ปลาย ต.ค. - ต้น พ.ย.) เงื่อนไขคือฉีด 50 ล้านโดสให้ได้ และรัฐบาลยังตั้งเป้า 100 ล้านโดส ใน 31 ธ.ค. 2564 นั่นยิ่งแล้วใหญ่ ลองคำนวณคร่าวๆ หมายความว่า กับเวลาที่เหลืออยู่ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 500,000 โดสต่อวัน และต้องมีวัคซีนเข้ามาประมาณเดือนละ 15 ล้านโดสถึงฉีดทัน ดังนั้น เป้าหมายพลาดอยู่แล้ว จึงเกิดคำถามต่อมาว่า “เป็นวาระแห่งชาติอย่างไรถ้าหาวัคซีนไม่ได้” จะหาวัคซีนจากไหน 15 ล้านโดสต่อเดือน ตั้งแต่ ก.ค. - ธ.ค. 2564 เป้าหมายนี้จึงเป็นไปไม่ได้ รวมถึงสิ่งที่ นายสาธิต พูดมาก็ยิ่งคอนเฟิร์ม

“ผมไม่เข้าใจว่าเราจะไม่โกรธได้ไง พูดเรื่องนี้แล้วผมโกรธทุกครั้ง เรื่องนี้เป็นความเป็นความตายของชาติ เป็นเรื่องอนาคตของประเทศไทย ความเสียหายทางชีวิต ทางอารมณ์ความรู้สึก ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับวัคซีนทั้งนั้น แล้วรัฐบาลไม่เคยประกาศเลยว่าตกลงวัคซีนตอนนี้อยู่ที่เท่าไร จะเข้ามาเมื่อไหร่ ตกลงวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดสจะเข้ามาเท่าไร เรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล คุณต้องเปิด ไม่มีเหตุผลที่คุณไม่เปิด เหตุผลเดียวที่นึกออกคือต้องการปกป้อง SBS เท่านี้เองจริงๆ”

ธนาธร ยังตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมานั่งแบกอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจของประชาชนด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่คนที่ส่งไม่ได้คือแอสตราเซเนกา เหตุใดจึงไม่โทษแอสตราเซเนกา ผู้นำประเทศอื่นเขาโทษ เขาฟ้องแอสตราเซเนกา เขายืนอยู่ข้างประชาชนแล้วทวงแอสตราเซเนกา เพราะถ้าส่งไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายประชาชนในประเทศ ทำไมเราไม่ทำอย่างนั้น ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงยอมแบกความโมโหของประชาชนไว้ทั้งที่คนส่งมอบไม่ได้คือแอสตราเซเนกา คำตอบเดียวที่ Make Sense ที่ Logical คือต้องการปกป้อง SBS และย้ำว่าต้นตอปัญหาตอนนี้มาจากวัคซีนส่งมอบไม่ได้

สัญญาวัคซีนที่ยืนยันแล้ว คือ แอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ซิโนแวค (Sinovac) 19.5 ล้านโดส ไฟเซอร์ (Pfizer) 20 ล้านโดส ไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส แอสตราเซเนกาจากญี่ปุ่นอีก 1 ล้านโดส หมายความว่า ตอนนี้เรามีวัคซีนที่ยืนยันแล้ว 103 ล้านโดส สำหรับซิโนฟาร์ม (Sinopharm) อยู่ในตะกร้าแยก ไม่ได้อยู่ในตระกร้ารวม และโมเดอร์นา (Moderna) อีก 5 ล้านโดสที่จะอยู่ระหว่างขั้นตอน ส่วนที่ส่งมอบมาจริงๆ แอสตราเซเนกา 6 ล้านโดส ซิโนแวค 14.5 ล้านโดส และซิโนฟาร์ม 2 ล้านโดส แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ วัคซีนที่ทำสัญญาซื้อขายแล้วแต่ไม่รู้จะส่งมอบเมื่อไหร่ เราไม่มีวัคซีนเหลือพอฉีด เรื่องที่สำคัญมากที่สุดคือ เพื่อบริษัทเดียวกลับปิดสัญญาไม่ให้คนทั้งประเทศเห็น อีกทั้งเว็บไซต์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เคยเปิดเผยข้อมูลเรื่องสต๊อกวัคซีน การจัดสรรไปจังหวัดใด จำนวนเท่าไรบ้าง ก็ถูกปิดไปแล้วเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล

วัคซีนทางเลือกไม่ควรมี คนจนไม่มีสิทธิ์ได้วัคซีนดีหรือ

มาที่เรื่อง “วัคซีนทางเลือก” ไม่ว่าจะเป็น ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นา หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งตอนนี้อยู่ตะกร้าแยก ต้องมีการติดต่อผ่านองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ แต่คำถามคือ “ทำไมต้องขาย ทำไมไม่อยู่ในตะกร้ารวมที่ประชาชนจะได้รับการฉีดฟรี” ไทยเป็นประเทศเดียวที่เสียเงินฉีดวัคซีน และประชาชนคนธรรมดาไม่มีใครมีเงิน 3,000 กว่าบาทไปซื้อได้ อย่างที่บอกไปวัคซีนแพงอย่างไรก็ถูกกว่าการเยียวยา ดังนั้น พอเป็นเรื่องวัคซีนซื้อขายส่วนตัวจึงพยายามไม่สนใจ เพราะรู้สึกโกรธว่าทำไมต้องเป็นวัคซีนซื้อขาย ทั้งที่ควรมาอยู่ในตะกร้ารวม ถ้าเอาวัคซีนโมเดอร์นาที่ได้รับการยอมรับว่าดีกว่ามาอยู่ในตะกร้ารวมมันจะมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดในองค์รวมของประเทศได้ดีกว่า

เรื่อง Work from Home คนที่เว้นระยะห่างได้อย่างมีประสิทธิภาพคือมีทรัพยากร พูดง่ายๆ คือคนรวย Work from Home ได้ ส่วนคนจนหาเช้ากินค่ำคือคนที่ Work from Home ไม่ได้ เอาวัคซีนดีไปอยู่ในตะกร้าซื้อขายคือคนที่มีศักยภาพในการซื้อ วัคซีนที่ดีถ้านำมากองรวมจะทำให้ประเทศต่อสู้ได้ดีกว่าแน่ๆ เพราะวัคซีนยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19

“นี่คือวัคซีนชนชั้น ทำไมเราปล่อยให้มีตะกร้าแบบนี้ ถามว่าเราไม่มีเงินที่จะซื้อโมเดอร์นาแจกหรอ ไม่ใช่แน่ๆ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้าน เพิ่งผ่านสภามา เรื่องวัคซีนทางเลือกคอมเมนต์เดียวของผมคือ มันไม่ควรจะมี มันต้องเป็นวัคซีนถังเดียวกันหมด คือถังของประเทศไทย ไม่ควรให้วัคซีนดีเป็นวัคซีนซื้อขาย ผมถามว่าคนจนไม่มีสิทธิ์ได้วัคซีนดีเหรอครับ”

แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันก็เข้าใจได้ว่าที่ต้องมีวัคซีนทางเลือกเพราะคนทนไม่ไหว รอรัฐบาลไม่ไหว จึงยอมจ่ายเงินเอง นี่คือความล้มเหลวทั้งที่ไม่ควรจะเป็น และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลขณะนี้ทำอะไรอยู่ในเรื่องการจัดหาวัคซีน ส่วนเรื่องที่ไทยขายวัคซีนให้ประชาชนต่อไปจะต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน เพราะไม่มีประเทศไหนทำกัน แสดงให้เห็นแล้วว่าในสายตาผู้มีอำนาจคนจนกับคนรวยไม่ได้เท่ากัน

เมื่อถามไปถึงโครงการ “ก้าวหน้ากู้วิกฤตกิ่งแก้ว” ที่คณะก้าวหน้าลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนภายหลังเกิดเหตุระเบิดกิ่งแก้ว ที่บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จ.สมุทรปราการ ธนาธร เล่าให้ฟังว่า ได้ลงไปช่วยเหลือพร้อมทีมงานในช่วงซอยกิ่งแก้ว 23-25 อยู่ห่างจากโรงงานราว 500-700 เมตร เราไม่ได้ไปช่วยกลุ่มคนที่มีฐานะ แต่ไปช่วยโรงเรียนวัดกิ่งแก้ว ชุมชนริมคลอง ชุมชนแออัด ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ในการซ่อมหลังคา ฝ้า ผนัง รวมถึงช่วยเก็บกวาด รวม 41 หลัง และปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนหนัก ถ้าไม่เข้าไปช่วยพวกเขาก็ต้องเสียเงินซ่อมบ้านกันเอง อีกทั้งไม่มีใครเป็นตัวแทนชาวบ้านในการฟ้องร้อง ให้ประชาชนไปเรียกร้องค่าเสียหายเอาเอง ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศอื่น CEO ต้องออกมาแถลงขอโทษประชาชนแล้ว ที่สำคัญคือภาครัฐทำอะไรอยู่ เพราะช่วงที่ลงพื้นที่ก็เห็นเพียงการมาแจกข้าวเท่านั้น

เลยเวลาของ “คุณประยุทธ์” มามากเกินไปแล้ว

ส่วนการออกมาขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ของมวลชนหลากหลายกลุ่มและประชาชน ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ธนาธร ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำประเทศได้เพราะยึดอำนาจมาจากประชาชน ทำรัฐประหารเมื่อ พ.ค. 2557 แล้วเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ ส่วนตัวมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความชอบธรรมที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และ 7 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 2 ปีหลังที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่าไม่มีความสามารถในการบริหาร ไม่ได้เอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะจากที่ส่วนตัวได้ลงพื้นที่พบความเดือดร้อนประชาชน อยากจะให้รัฐบาลเอาใจใส่ดูแลประชาชนมากกว่านี้ ก่อนจะตั้งคำถามอีกครั้งว่า ไม่รู้รัฐบาลทำงานอย่างไร เกิดอะไรขึ้น

ตัวอย่างความล้มเหลวที่ชัดเจนคือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านสภาเมื่อกลางปีก่อน ในจำนวนนี้มีการระบุให้ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ แต่ข้อเท็จจริงคือซื้อไม่ได้ เบิกจ่ายไปน้อยมากในส่วนของงบซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ทั้งๆ ที่เราจำเป็นต้องซื้อเครื่องช่วยหายใจอย่างเร่งด่วน และงบประมาณก็ผ่านสภาไปแล้ว นายกรัฐมนตรีทำอะไรอยู่ ทำให้เข้าใจไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมบริหารอย่างไม่มีการลงรายละเอียด ไม่มีการมอบหมายงานที่ชัดเจน

“วิกฤติทุกวิกฤติคือการพิสูจน์ความเป็นผู้นำ วิกฤติที่ใหญ่ขนาดนี้ถ้าผมเป็นคุณประยุทธ์ ผมต้องนั่งเฝ้าศูนย์บัญชาการว่าต้องตัดสินใจอะไรบ้าง ถ้าเป็นผมจะทำแบบนี้ทุกวัน ตื่นมาฟังว่าใครทำอะไร มีปัญหาอะไรบ้าง เย็นนี้ใครทำอะไร มีปัญหาอะไร นี่คือไครซิส (Crisis) พิสูจน์ภาวะผู้นำ

ผมว่า long-overdue แล้ว เลยเวลาของคุณประยุทธ์มามากเกินไปแล้ว เวลามันหมดไปตั้งนานแล้ว คุณประยุทธ์ ไม่มีความเหมาะสม ไม่มีความสง่างามที่จะเป็นผู้นำมาตั้งแต่แรก และการที่เป็นผู้นำมาถึง 7 ปี ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถพาประเทศไปต่อข้างหน้าได้”

วันนี้แล้ว (20 ก.ค. 2564) ที่มาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ถูกยกระดับให้เข้มขึ้นอีกใน 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และหนึ่งในคนที่ประกาศว่าจะร่วมทำมาตรการ Work from Home ไปพร้อมๆ กับประชาชนก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ทำงานอยู่ที่บ้านแบบ 100% ซึ่งโฆษกรัฐบาล หากนายกรัฐมนตรีเดินทางมาปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่และข้าราชการที่เกี่ยวข้องหลายสิบคนก็ต้องเดินทางมาด้วย ซึ่งจะไม่ตรงกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการลดการแพร่ระบาดของโรค ทางด้านบรรดารัฐมนตรีทั้ง ครม. ก็รับลูกทันทีพร้อมใจกันทำงานจากที่บ้าน... หวังว่าความร่วมมือของประชาชนอีกครั้งในคราวนี้จะทำให้ได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดต่ำลง แต่ไม่ว่าจะเคร่งมาตรการอย่างไรก็ต้องควบคู่กับการที่ประชาชนได้ฉีดวัคซีนที่ดีอย่างรวดเร็วที่สุดด้วย.

ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Varanya Phae-araya