กมธ.งบ ปี 65 ส.ส.ห่วงผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ กระทบเด็กเยาวชนมากกว่า 7 แสนคนประสบภาวะยากจนเฉียบพลัน และเสี่ยงหลุด พบนักเรียนกลุ่มชั้นรอยต่อยากจน 15% ล่างสุดของประเทศ ชื่อหายไปแล้ว 20%
วันที่ 19 ก.ค. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ด้านการศึกษา ในส่วนของหน่วยงานอื่นของรัฐ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กรรมาธิการส่วนใหญ่แสดงความกังวลถึงเด็กเยาวชนยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยนางผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมาธิการงบประมาณในสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวให้กำลังใจหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณลดลง ซึ่งพบว่ามีตัวเลขเด็กที่ยากจนและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวนมาก รัฐบาลจึงควรจัดสรรงบเพิ่ม ผ่าน กสศ. หรือ กยศ. และสนับสนุนให้ กสศ. ทำงานร่วมกับ สสวท. เพื่อสนับสนุนให้เด็กเยาวชนจากครัวเรือนยากจนด้อยโอกาสที่มีศักยภาพได้มีโอกาสศึกษาต่อในโรงเรียนคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์ที่ สสวท. ดูแลอยู่
...
กมธ.งบประมาณในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กสศ. ได้รายงานตัวเลขผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองยากจนเพิ่มขึ้นจาก 300,000 คน เป็น 700,000 คน ในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2564 และเกรงว่างบประมาณที่ถูกปรับลดจะกระทบกับการช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งเป็นการปรับลดตั้งแต่เมื่อครั้ง กสศ. เคยเสนอไปยังรัฐบาลตั้งแต่แรก และถูกปรับลดลงมาก่อนที่จะเข้าสภาคล้ายกับอีกหลายหน่วยงานที่ถูกปรับลดตั้งแต่ต้นเพราะงบมีจำกัด โดยในส่วนของอนุกรรมการไม่มีการปรับลดในส่วนของ กสศ. เพิ่มเติมแต่อย่างไร ซึ่งที่ประชุม กมธ.รับทราบสถานการณ์ ตามที่ชี้แจงแต่ไม่มีอำนาจในการแปรเพิ่ม การแปรเพิ่มขึ้นอยู่ที่รัฐบาลพิจารณาแปรงบประมาณเพิ่มกลับมาหรือไม่
ขณะที่นางนาที รัชกิจประการ กมธ.งบประมาณ ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนเป็นเด็กต่างจังหวัดจึงเข้าใจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นอย่างดี การที่ กสศ. ให้ความช่วยเหลือเด็กยากจนเมื่อถูกตัดงบประมาณจะทำให้กระทบถึงเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาสถึง 7 แสนคน ตรงนี้มีความสำคัญ เพราะประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่ง กสศ. ช่วยเหลือได้จริงสำหรับเด็กยากจนในต่างจังหวัดจึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่าตัดงบ
ทั้งนี้ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชี้แจงว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กยากจนและยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา จำนวน 712,725 คน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกจากการประเมินของคณะผู้วิจัยจากเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าการทวีความรุนแรงของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลต่อประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยทำให้เกิดภาวะยากจนเฉียบพลันมากขึ้นราว 10% ประชากรกลุ่มนี้มีบุตรหลานอยู่ในระบบการศึกษาอยู่ราว 150,000-300,000 คน และกลุ่มที่สองคือ ประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ นักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ในระดับชั้น อ.3 ป.6 ม.2 ม.3 และ ม.6 ที่มีมากกว่า 400,000 คน ที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
“จากการตรวจสอบรายชื่อนักเรียนกลุ่มชั้นรอยต่อราว 300,000 คนในปีการศึกษา 2/2563 พบว่า ขณะนี้มีจำนวนนักเรียน 20% ที่ชื่อหายไปเมื่อเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 1/2564 สอดคล้องกับผลสำรวจขององค์การยูนิเซฟ ที่ผ่านมาแม้ กสศ. จะได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการย้ายโรงเรียนช่วงเปิดเทอมคนละ 800 บาท และบันทึกรายชื่อโรงเรียนที่นักเรียนกลุ่มรอยต่อตั้งใจจะไปสมัครเรียน แต่ยังคงมีนักเรียนอีกราว 60,000 คนที่ยังคงไม่พบตัวในระบบการศึกษา โดย กสศ. สพฐ. สถ. และ บช.ตชด. มีแผนจะวางระบบบูรณาการฐานข้อมูลนักเรียนในระยะยาวเพื่อส่งต่อรายชื่อนักเรียนจากโรงเรียนต้นทางไปยังโรงเรียนปลายทางโดยต้องออกมาเป็นนโยบายเพื่อให้เกิดความร่วมมือในทางปฏิบัติในพื้นที่อย่างยั่งยืน” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่ กสศ. ถูกตัดงบประมาณลงจำนวน 904.76 ล้านบาท จากยอดที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 จำนวน 6,556 ล้านบาท ขณะที่การเสนอเข้าสู่ร่าง พ.ร.บ.พิจารณางบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2565 อยู่ที่ 5,652 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนหรือด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้ง 2 กลุ่มนี้ มากกว่า 712,725 คน ซึ่งประกอบด้วย นักเรียนยากจนพิเศษ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงไม่เรียนต่อในช่วงชั้นรอยต่อ จำนวน 421,401 คน และนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนครัวเรือนประสบปัญหาความยากจนเฉียบพลันและมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษากลุ่มเพิ่มเติม จำนวน 291,324 คน นอกจากนั้นในปีการศึกษา 2564 นี้ กสศ.พบว่า มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่จบชั้น ม.6/ปวช. ที่สอบติด TCAS64 จำนวน 11,000 คน จึงส่งข้อมูลให้แก่ กยศ. และที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ (ทปอ.) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันที่อยู่ในระดับเพียง 5% เท่านั้น.