สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เผยแพร่การประเมินผลงานกลางเทอมของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน

เริ่มจาก การควบคุมการระบาดของโควิด–19 ที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้เป็นอย่างดีในรอบแรก แต่หลังจากนั้น การตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลทำให้ไทยเสียโอกาสที่ดีไป

ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างมากขึ้น เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำอยู่แล้ว จากการหดตัวของภาคการท่องเที่ยว จีดีพี ปี 2563 ติดลบร้อยละ 6.1 รุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี

เราเคยได้รับการยอมรับจากชาวโลกว่าเราสามารถรับมือกับโควิดรอบแรกได้ดีที่สุด แต่เราก็เสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย ในการเตรียมการรองรับการระบาดรอบใหม่ ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนแล้วว่า จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ความไม่พร้อมเห็นได้ชัดเจน จากการเกิดคลัสเตอร์ ในรอบที่ 3 เริ่มใน กทม. จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และระบาดไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วยดูจากการใช้งบประมาณเพื่อยกระดับความพร้อมเอาไว้ 45,000 ล้าน ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ตั้งแต่ เม.ย.ปี 2563 จนถึงต้นเดือน มิ.ย.2564 เบิกจ่ายไปเพียง 11,623 ล้าน

มาจนถึงการระบาดรอบที่ 4 ระบบสาธารณสุข ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก เป็นการสะท้อนถึงการขาดโครงสร้างและระบบในการรับมือกับการระบาดใหญ่ ภายใน 3 เดือนพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 10 เท่า และมีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคนต่อวัน อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 การระบาดของไวรัสอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อและการเสียชีวิตให้น้อยลงได้ เช่น กรณีคลัสเตอร์ในบริเวณแคมป์คนงานก่อสร้าง อันเกิดจากการไม่เป็นเอกภาพในการทำงานและการที่รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาด

...

ปัญหาที่มากไปกว่านั้นคือ การบริหารงานในสถานการณ์วิกฤติ เป็นไปอย่างสับสน รัฐบาลประกาศมาตรการกลับไปกลับมา เช่น มาตรการ ล็อกดาวน์ ที่รัฐประกาศว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์ แต่วันรุ่งขึ้นก็มีการประกาศล็อกดาวน์ การออกมาตรการกระชั้นชิด และไม่มีการเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะตามมา

ส่วน การบริหารจัดการวัคซีน ได้ดำเนินการไปอย่างช้า คล้ายกับ ฟิลิปปินส์ การฉีดวัคซีนสะสมทำได้แค่ร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฉีดวัคซีนสะสมได้ถึงร้อยละ 11 แล้ว

การฉีดวัคซีนเชิงรุกของรัฐบาลเพื่อจะเปิดประเทศ จะสามารถฉีดวัคซีนให้ครบทั้งหมดได้ก็ต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2565 ซึ่งจะต้องเพิ่มความเร็วในการฉีดวัคซีนได้ถึง 5 แสนโดสต่อวัน รัฐมีความเชื่อมั่นที่จะหาวัคซีนได้จนครบมากเกินไป หลักการคิดในการฉีดวัคซีนในลักษณะน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ต้นทุนในการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ ตั้งความหวังกับวัคซีนแอสตราเซเนกามากเกินไป รวมทั้งการตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมโครงการ Covax การกระจายวัคซีน ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ในบางจังหวัดเช่นบุรีรัมย์ ได้รับวัคซีนเกินความจำเป็น

ล้วนแต่นำไปสู่ความล้มเหลวของระบบและตัวบุคคล.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th