รัฐบาลเดินหน้ากิจการอวกาศ อนุมัติร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ตั้งองค์กรและคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศไทย มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน 

วันที่ 13 ก.ค. 64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ว่า เนื่องจากภารกิจด้านกิจการอวกาศมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 35,600 กิจการ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี แต่ที่ผ่านมา นโยบายการบริหารกิจการอวกาศของประเทศไทย ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่ครอบคลุมปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมอวกาศในหลายส่วนที่สำคัญ จึงจำเป็นต้องกำหนดผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการกำกับและดำเนินการ จดทะเบียนวัตถุอวกาศ รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศด้านอวกาศที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการด้านกิจการอวกาศเป็นไปด้วยความเหมาะสม สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศได้เพิ่มมากขึ้น ครม. จึงอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ เพื่อกำหนดให้มีองค์กรทำหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนกิจการอวกาศ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และให้บริการรับคำขอและชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุญาตต่างๆ ด้านอวกาศ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติมีสาระสำคัญดังนี้

1. กำหนดให้มีนโยบายและแผนกิจการอวกาศ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการอวกาศก่อให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy)

...

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายกิจการอวกาศตามขอบเขตของพระราชบัญญัติ

3. กำหนดให้มีสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงาน ด้านเลขานุการให้กับคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และดำเนินภารกิจเพื่อกำกับดูแลส่งเสริมกิจการอวกาศ รวมทั้งเป็นหน่วยรับแจ้งเหตุในกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรืออุบัติการณ์จากการดำเนินกิจการอวกาศก่อนประสานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว

4. กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ มีอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินภารกิจกำกับดูแลส่งเสริมกิจการอวกาศ

5. กำหนดลักษณะและประเภทการอนุญาต รวมถึงมาตรการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ดำเนินกิจการอวกาศ เพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy)

6. กำหนดโทษสำหรับผู้ดำเนินกิจการอวกาศ โดยไม่ได้แจ้งหรือไม่มีใบอนุญาตดำเนินกิจการอวกาศ

7. กำหนดให้ ครม. จัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติระยะเริ่มแรกตามความจำเป็น และให้นายกรัฐมนตรี เสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐ มาปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสำนักงานฯ เป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่ ครม. กำหนด

8. กำหนดให้รายได้ของสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ตกเป็นของหน่วยงานเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานต่างๆ ที่เหมาะสม โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ โดยใช้ทรัพยากร เทคโนโลยี และองค์ความรู้จากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งขับเคลื่อนผ่านธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจให้บริการนำส่งดาวเทียม ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ธุรกิจสำรวจอวกาศ ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ธุรกิจการวิจัยและทดลองในอวกาศ ธุรกิจออกแบบและพัฒนาจรวดหรืออวกาศยาน ธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศ เป็นต้น.