กาบัตร 2 ใบ ยังอีกยาว... รัฐสภาได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 1 ร่าง จากทั้งหมด 13 ร่าง เป็นเรื่องของ “นักการเมือง” ล้วนๆ

ร่างนี้ว่าด้วยการเลือกตั้งด้วยการเสนอให้มีการแก้ไขฉบับปัจจุบันปี 60 ที่กำหนดให้ลงคะแนนด้วยบัตรเพียงใบเดียว

เป็น 2 ใบเลือกทั้งคนและพรรค

ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 ได้เริ่มต้นนำมาใช้เป็นแบบ “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” ด้วยการหย่อนบัตร 2 ใบในครั้งเดียว

แยก ส.ส.ที่จะได้มาใน 2 แบบ คือผู้สมัครแต่ละเขตและระบบปาร์ตี้ลิสต์

จำนวน ส.ส.เขต 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน

แน่นอนว่าพรรคการเมืองใหญ่จะได้เปรียบพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก โอกาสที่จะสูญพันธุ์มีความเป็นไปได้สูง

“พลังประชารัฐ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์” สนับสนุนเต็มที่

“เพื่อไทย” นั้นการกาบัตรเพียงใบเดียวทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เมื่อไม่สามารถคำนวณจำนวนตัวเลขปาร์ตี้ลิสต์ได้แม้แต่คนเดียว

เนื่องด้วยหลักคิดคือได้ ส.ส.เขตมากแล้ว ไม่ควรได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

แม้จะแก้ลำด้วยการนำวิธีการ “แตกแบงก์พัน” มาใช้คือตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาอีกพรรค แต่เนื่องจากเกิดปัญหากลางทางต้องยุบพรรคไป

เพื่อไทยจึงพยายามดิ้นรนทุกอย่างเพื่อให้มีการแก้ไข

มองไปอีกหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากกาบัตรใบเดียว คือพรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็กที่ได้ ส.ส.เข้ามาแบบเบี้ยหัวแตก

เพราะมีหลายพรรค หลายกลุ่มวุ่นไปหมด

แต่ที่ได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุดคือพรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ที่ได้ ส.ส.จำนวนมากทั้งแบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์

...

แม้แต่พรรคภูมิใจไทยที่ว่าไปแล้วน่าจะพอใจกับการกาบัตร 2 ใบมากกว่า แต่กติกาเก่าก็มีส่วนทำให้พรรคนี้มีราคาขึ้นมาทันที

จึงไม่รับร่างแก้ไขนี้

พลังประชารัฐที่เสนอร่างแก้ไขก็มุ่งไปสู่ประเด็นนี้เป็นหลัก เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชนะการเลือกตั้งได้

โดยเฉพาะที่เพื่อไทยคาดหวังว่าจะเป็นแลนด์สไสด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เช่นกันก้าวไกลหรือแนวร่วมก็ไม่ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจน แต่ไปจับประเด็นทางการเมืองในวงรอบใหญ่มากกว่า

เพราะก็ไม่มั่นใจ “บัตร 2 ใบ” จะทำให้ได้ ส.ส.แค่ไหน

คงไม่มีทางได้อย่างเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแน่

ว่าไปแล้วแม้จะเป็นเพียงแก้ไขร่างเดียว แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีผลบังคับใช้เหนือกฎหมายทุกฉบับ

ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านต่างก็ต้องเคลื่อนไหวกันเต็มที่

แต่ยังไงเสีย “วุฒิสภา” คือตัวแปรสำคัญ

สุดท้ายฝ่าย คสช.ก็จะเป็นฝ่ายชนะไป.

“สายล่อฟ้า”