ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550 ที่ใช้บังคับมากว่า 10 ปี มีประเด็นที่เจตนารมณ์ในการเปิดกว้างให้เกิด กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการเข้ามามีส่วนกำกับกิจการพลังงานของชาติหลายวาระ หลายช่องทาง ดังนั้นหลักเกณฑ์กระบวนการสรรหา กกพ. เพื่อนำเสนอ รมว.พลังงาน และ คณะรัฐมนตรี จึงมีการกำหนดเอาไว้ว่าจะต้องมาจาก คณะกรรมการสรรหาบุคคลภายนอก และเน้นให้เปิดรับสมัครจากบุคคลทั่วไป ในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา

กกพ.หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีบทบาทที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าไฟฟ้า การซื้อขายไฟฟ้า การวางนโยบายด้านพลังงานของชาติ ประกอบกับภาคพลังงานของไทยกำลังเดินเข้าสู่ยุค Energy Transformation ในการที่จะลดการผูกขาดและเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะทยอยไปสู่การเปิดเสรีจากการผูกขาดโดยรัฐมาตามลำดับ

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน ไปสู่โฉมใหม่ทั้งหมด บนการ พัฒนาพลังงานหมุนเวียนสีเขียว ในกระแสของภาวะโลกร้อน หรือภาวะเรือนกระจก ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ทำให้บทบาทของ กกพ.มีความโดดเด่นชัดเจนมากขึ้น

ปัจจุบัน บอร์ด กกพ. ประกอบด้วย คณะกรรมการ 7 คน ได้แก่ เสมอใจ ศุขสุเมฆ, สุธรรม อยู่ในธรรม, ชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ, พีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน, บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์, สหัส ประทักษ์นุกูล และ อรรชกา สีบุญเรือง อยู่ในวาระได้ 3 ปี จะมีกรรมการ 3 คน ต้องจับสลากพ้นจากตำแหน่ง และจะมีการเลือกขึ้นมาแทนอีก 3 คน ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.2564 ปรากฏว่าผู้ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งประกอบด้วย ชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ, พีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน และ อรรชกา สีบุญเรือง

ดังนั้น จึงต้องมีการตั้งกรรมการสรรหาขึ้นมา 8 คนด้วยกัน ประกอบด้วยผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดพลังงาน ปลัดคลัง ปลัดอุตสาหกรรม หรือเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 4 คน เป็นผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นผู้ประกอบกิจการพลังงาน สภาวิศวกร หน่วยงานละ 1 คน ผู้แทนของอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 1 คน และผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร หรือเอ็นจีโอ อีก 1 คน

...

ทั้งหมดนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.erc.or.th  หรือ 0-2207-3599 ต่อ 713 และ 744 ช่องทางในการตรวจสอบความโปร่งใสเหล่านี้มีความสำคัญกับ คุณภาพชีวิตของประชาชน โดยทั่วไป โดยเฉพาะด้านพลังงานที่ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ

ภาพของพลังงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ถือเป็นแหล่งประโยชน์ขนาดใหญ่ของประเทศ และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน

ภายใต้ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ด้วย.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th