องค์ประชุมไม่ครบ ฝ่ายค้านเหน็บฝั่งรัฐบาลไม่มาโหวตร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ สุดท้ายสภาฯ ล่ม ต้องปิดประชุม

วันที่ 30 มิ.ย. 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมีการปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนเข้าสู่วาระการลงมติ มาตรา 6 ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... โดยภายหลังพักการประชุมและกลับมาประชุมอีกครั้งก่อนลงมติ นายชวน ระบุว่า ในช่วงพักได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มาชี้แจ้ง ทาง อย. ต้องการกฎหมายนี้มาก กฎหมายนี้เป็นกฎหมายของรัฐบาลและเป็นงานที่หลายกระทรวงเกี่ยวข้อง

ในช่วงหนึ่งก่อนการลงมติ นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นขอหารือว่า จากการประชุมครั้งที่แล้วก่อนที่จะปิดประชุมสภาฯ และขอให้นำกลับไปดูอีกครั้งก่อน ซึ่งได้มีการซักถามกรรมาธิการในมาตรา 6 และเป็นผู้สงวนคำแปรญัตติไว้ว่า การไปจ้างบุคคลธรรมดา หรือบริษัทเอกชน โดยไม่มีเงื่อนไขที่ผูกพัน และมีความน่าเชื่อถือเพียงพอ จะเป็นปัญหา อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับใช้เพียงหน่วยงานเดียว แต่จะมีหลายหน่วยงานต้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ พร้อมสอบถามกรรมาธิการว่า บุคคลเหล่านี้ที่ถูกจ้างให้เป็นผู้เชี่ยวชาญได้โดยที่ไม่มีสถาบันวิจัยรองรับ จะถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความน่าเชื่อถือให้กับกรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร รวมถึงบริษัทเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการนั้นจะมีความรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้จากกรรมาธิการก็คือพวกเขาไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นคำตอบที่ยอมรับไม่ได้ เนื่องจากมีความกังวลว่า หากผ่านกฎหมายลักษณะนี้ไป ขณะที่ประเทศอื่นๆ เมื่อมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร ก็จะไม่อนุญาตจ้างบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะบุคคลที่อ้างตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่มีสถาบันวิจัยที่น่าเชื่อถือมารองรับ รวมทั้งบริษัทเอกชนก็ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กรได้ จึงขอให้ ส.ส. พิจารณาให้ดี เพราะหากผ่านกฎหมายลักษณะนี้ไปจะเกิดความเสียหายกับประเทศ รวมถึงความน่าเชื่อถือของสภาฯ ด้วย จึงจำเป็นต้องลงมติไม่เห็นด้วย แต่หากสมาชิกอื่นจะงดออกเสียงก็จะยินดี

...

ต่อมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวว่า เป็นกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ ถ้ารัฐบาลไม่เอากฎหมายนี้ พวกเราไม่เอาก็ได้ เพราะดูจากองค์ประชุมไม่ถึง ในเวลาต่อมา นายชวน ยังกดออดเรียกให้สมาชิกมาแสดงตนอีกครั้ง ทางด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอหารือว่าวันนี้พรรคฝ่ายค้านพยายามปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลและฝ่ายค้านพร้อมที่จะทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และมีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านบางคนเสนอยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ จากนั้น นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย หารือว่าร่างกฎหมายนี้มีปัญหาพอสมควร จึงอยากให้ถอนออกไปก่อนเพื่อหารือใหม่ เมื่อร่างสมบูรณ์จึงเสนอกลับมาพิจารณากันใหม่ ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล

ในที่สุดเมื่อเวลาประมาณ 11.57 น. นายชวน ประกาศปิดการแสดงตน พบว่ามีเพียง 206 คน ไม่ครบองค์ประชุมที่ 242 คน จึงต้องปิดการประชุม.