นายกฯ ย้ำ ปิดแล้วต้องจบ สรุปมาตรการแคมป์คนงาน งดเคลื่อนย้าย ตรวจเชิงรุก 100% แยกผู้ติดเชื้อ ลุยฉีดวัคซีน จับตายอดผู้ติดเชื้อ 15 วันข้างหน้า

วันที่ 26 มิ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวถึงมาตรการปิดแคมป์คนงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ต้องการให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง รวมถึงมาตรการการช่วยเหลือ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความเป็นห่วงและให้ความสำคัญกับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งทีมแพทย์เสนอแนะในเรื่องการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งทุกอย่างต้องเดินคู่กันไป

ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้รับข้อสั่งการต้องดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานในมาตรา 33 ระหว่างที่จะต้องปิดแคมป์ตามนโยบายรัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงต้องการความร่วมมือภาคเอกชนด้วย ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการแก้ปัญหาโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร โจทย์สำคัญคือ แคมป์คนงานก่อสร้าง ที่มีอยู่ 500 กว่าแคมป์ คนงาน 80,000 กว่าคน ทางกรุงเทพมหานครทำเต็มที่สุดความสามารถเรื่องการควบคุมโรคระบาด และกระทรวงแรงงานเป็นฝ่ายสนับสนุน

1. ซีลแคมป์ไม่ให้ออกนอกพื้นที่ ปิดสถานที่ก่อสร้าง เป็นเวลา 1 เดือน สร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องประชาชนในมาตรการควบคุมแรงงานในแคมป์คนงาน โดยนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาคราวละ 15 วัน เช่น ถ้ามีวินัย หรือได้คิวการฉีดวัคซีนตามระบบประกันสังคม มาตรา 33 แล้ว อาจจะทำให้มีความปลอดภัยและชุมชนข้างเคียงหรือประชาชนมีความเชื่อมั่น แต่หากยังไม่ได้คิวก็ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดจนครบ 1 เดือน

...

2. ชดเชยเยียวยาพี่น้องแรงงานจากเหตุสุดวิสัย 50% แม้ต้องหยุดงาน แต่กระทรวงแรงงานจะถือเงินสดไปจ่ายให้ที่แคมป์คนงานทุก 5 วัน โดยจะร่วมกับนายจ้าง-เจ้าของกิจการในการตรวจเช็กรายชื่อคนงานทุกวันพร้อมกับเจ้าหน้าที่ และรัฐบาลจะสนับสนุนอาหารให้ด้วย เป็นทิศทางที่จะนำพาให้ทุกแคมป์คลีนในเรื่องการแพร่ระบาด มองว่าการหลบหนีออกจากแคมป์จะมีส่วนน้อย

“บางข่าวอาจจะบอกว่าปิดแคมป์คนงานแล้วจะทำให้คนงานหนีกลับต่างจังหวัด อะไรก็แล้วแต่ นั่นคือส่วนของคนไทย แต่นายจ้างอย่างไรก็ต้องรักลูกน้องตัวเอง ไม่ให้กลับแน่นอน เพราะกลัวงานเปิดแล้วไม่กลับมาทำงาน ส่วนแรงงานต่างด้าวไม่ไปไหนแน่นอน เพราะไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย เขาต้องอยู่ที่แคมป์ มีที่อยู่ ที่กิน ที่นอน มีรายได้อีก 50% ในมาตรา 33 ที่เราจ่ายให้ เขาไม่ไปไหนแน่นอน นี่คือหลักความเป็นจริงของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ส่วนที่ทุกคนคิดว่าปิดแล้วจะทำให้คนงานเหล่านี้ออกจากแคมป์ไปนู่นไปนี่ ไม่มีทาง ส่วนน้อย เพราะเขาอยู่เขาได้เงิน เขาออกไปเขาไม่ได้เงิน ถ้าเราไม่ปิดแล้วเขาออกจากที่พักไปๆ มาๆ กับสถานที่ก่อสร้างจะยิ่งกว่า”

นายสุชาติ ระบุต่อไปว่า นี่คือสิ่งที่ทีมแพทย์และคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมองว่าจะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานลดลง และดูว่าจริงๆ แล้วคลัสเตอร์หลักอยู่ตรงนี้หรือไม่ จึงเสนอว่ากระทรวงแรงงาน รับผิดชอบในส่วนการปิด ส่วนผู้ประกอบการนัดนายกสมาคมก่อสร้างไทย ประชุมแนวทางการจ่ายเงินและมาตรการช่วยเหลือที่กระทรวงแรงงานในวันพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.) เวลา 14.00 น. และจะขอร้องผู้ประกอบการให้จ่ายสมทบในส่วนที่คิดว่ามีกำลังอาจจะ 20-30% จะทำให้ลูกจ้างได้เงินมากขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนายจ้าง

3. ตรวจเชิงรุก 100% (Swab) โดยทีมแพทย์ในเครือประกันสังคม กรณีเจอผู้ติดเชื้อก็นำไปรักษา คนไม่ติดเชื้อก็ให้อยู่ที่แคมป์ แยกออกจากกัน เพื่อตอบสังคมให้ได้ว่าปิดเพื่อทำการค้นหาเชิงรุกตรวจโควิด รวมถึงกำลังหารือว่าระหว่างกักตัวหากถึงคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจจะใช้ทีมเคลื่อนที่ไปดำเนินการ เป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และจะช่วยให้พี่น้องประชาชนหมดกังวล

4. ฝ่ายความมั่นคงประสานกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้ามาช่วยสนับสนุนควบคุมพื้นที่แคมป์ต่างๆ

ทั้งนี้ คนงานส่วนใหญ่ 95% พักอยู่ในแคมป์ อาจจะทำไม่ได้ 100% ต้องได้ประโยชน์สูงที่สุด โดยหากการปิดแคมป์คนงานแล้วยอดผู้ติดเชื้อลดลง แสดงว่าจุดนี้คือตัวปัญหา แต่ถ้าปิด 14-15 วันแล้วยอดยังสูง ก็ต้องไปค้นหาว่าจุดไหนคือตัวปัญหา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าไม่ใช่การล็อกดาวน์ นายกรัฐมนตรีพูดชัดเจน ปิดบางจุด บางพื้นที่ที่คิดว่าเป็นคลัสเตอร์ และปิดแล้วต้องจบ ซึ่งในส่วนนี้จะไม่เกี่ยวกับโรงงาน อุตสาหกรรม ส่วนแรงงานนอกระบบผิดกฎหมายที่ก่อนหน้านี้เปิดให้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปัจจุบันเก็บอัตลักษณ์ไปแล้ว 97-98%

“กังวลทุกที่ใน กทม. แต่แคมป์ใหญ่ๆ ก็เป็นประเด็นที่เราต้องเข้าไปตรวจสวอปให้เร็วที่สุด ส่วนผู้ประกอบการเจ้าของกิจการก่อสร้างก็มีความน่ารักหลายคน เขาให้ความร่วมมือเรามาตลอด เชื่อว่าในส่วนนี้ ผู้ประกอบการไม่มีใครอยากให้ลูกน้องตัวเองติดโควิด เพราะธุรกิจก็ต้องหยุดเหมือนกัน แต่คิดว่าการแก้ปัญหาโดยนายกรัฐมนตรี เล็งเห็นปัญหาว่าถ้าทีมคณะแพทย์ ที่ปรึกษา มองว่าเป็นประเด็นปัญหาเพื่อจะเคลียร์ตรงนี้ ก็ปิด ท่านนายกฯ บอกปิดแล้วต้องแก้ปัญหาให้จบ กระทรวงแรงงานก็รับลูกต่อมาจึงออกมาเป็นนโยบายแบบนี้

สิ่งที่เราทำวันนี้อาจจะไม่ได้ผล 100% ในการล็อกคนอยู่ได้หมด เพราะมีคนงานเป็นคนไทยด้วย ซึ่งอาจกลับบ้านจังหวัดใกล้ๆ แต่ผมบอกแล้วว่ากลับไม่ได้เงิน ถ้าอยู่ได้ตังค์ค่าจ้าง 50% แต่ถ้าคุณไม่อยู่ นายจ้างก็ไม่รับรอง ผมก็จ่ายไม่ได้ผมคลุกคลีกับคนงานมาทั้งชีวิต คนต่างด้าวไม่ออกไปไหนหรอก เพราะเขาไม่มีที่อยู่ เขาอยู่ที่นี่ มีแคมป์นอน มีครอบครัวอยู่ เคลื่อนย้ายแต่ละครั้งมีแต่ค่าใช้จ่าย ยิ่งรู้ว่ารัฐบาล นายกฯ ดูแลชดเชยสิ่งที่เสียหายไป 50% แล้วมีอาหารการกินให้ ผมว่าเขาอยู่ ในคนงาน 80,000 กว่าคนใน กทม. มีคนไทยประมาณ 30% นอกนั้นเป็นคนต่างด้าว”

อย่างไรก็ตาม นายสุชาติ ยังได้ย้ำทิ้งท้ายว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือ จะทำให้ยืนได้และอยู่อย่างปลอดภัย ส่วนการระบาดในแคมป์ก็โทษใครไม่ได้ และต้องทำความเข้าใจคนงานเรื่องการแยกของใช้ต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ แต่สุดท้ายวัคซีนคือทางรอด นี่คือสิ่งที่นายจ้างจะต้องช่วยกันคิดและให้ความร่วมมือ ส่วนรัฐต้องทำให้ได้อย่างที่พูด.