- เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... จำนวน 13 ฉบับ แบบหามรุ่งหามค่ำ 2 วันเต็ม ไปจนถึงเช้าตรู่ของวันที่ 25 มิ.ย. 2564
- ยาวและนาน เพราะใช้เวลาลงคะแนนถึงเกือบ 9 ชั่วโมง ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจึงเผยผลมติ ว่า 2 สภารับหลักการร่างที่ 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค คือ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 83 และ 91 เพียงแค่ร่างเดียวจากทั้งหมด 13 ฉบับ
- ท่วมท้นเกินความคาดหมายตั้งแต่กลางทาง ด้วยคะแนนเสียง 552 เสียง โดยมี สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ลงคะแนนให้ถึง 210 เสียง ผ่านเส้นชัยไปอย่างขาดลอย ทิ้งให้อีก 12 ร่างต้องถูกปัดตกไปอย่างน่าเสียดาย
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ ถึงรายละเอียด ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า เป็นการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง และวิธีคำนวณระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้กลับไปใช้วิธีการในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550
...
โดยเนื้อหาของร่างดังกล่าว คือ การปรับแก้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. จำนวน 500 คน จากปัจจุบันใช้ ส.ส.แบบเขต 350 คน และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ในรัฐธรรมนูญปี 60 ให้กลับไปเป็น มีจำนวน ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงจากเดิมใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ เปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่สามารถเลือก ส.ส.เขตได้ 1 ใบ และเลือกพรรคได้ 1 ใบ และแก้วิธีคำนวณระบบบัญชีรายชื่อแบบใหม่ เนื่องจากแบบเดิมมีความยุ่งยากและซับซ้อน
ซึ่งในส่วนนี้จะมีการเปิดกว้างให้ถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการ เพราะได้กำหนดไว้ว่าให้ไปยกร่างกฎหมายลูก คือ ให้ไปแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อีกครั้ง
ร่างอื่นๆ จะมาเนียนสอดแทรกไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยว
นายราเมศ ยืนยันว่าหลักการและเหตุผลในชั้นกรรมาธิการจะยังยึดตาม ร่างของพรรคที่รับหลักการในวาระที่ 1 ส่วนเรื่องอื่นๆ คงนำมาแทรกในชั้นนี้ได้ยาก แต่หากมีเนื้อหาที่สอดคล้องอาจจะมีความเป็นไปได้ เช่น เรื่องปรับจำนวนตัวเลข แต่ไม่ถึงขั้นมีเรื่องอำนาจ ส.ว. เพราะได้ถูกปัดตกไปแล้ว
ในส่วนร่างการแก้ไขระบบเลือกตั้งที่ตกไปของพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ หากจะนำมาใช้พิจารณาในวาระ 2 ถือเป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน แต่สามารถทำได้ในชั้นกรรมาธิการ ส่วนการประชุมนัดแรกจะมีขึ้นในวันที่ 29 มิ.ย. นี้ ในเวลา 10.00 น. โดยเบื้องต้นมีกำหนดการแปรญัตติ 35 วัน นับถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการ
ใครเป็นใครในชั้นกรรมาธิการ?
สำหรับรายชื่อของกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) มีจำนวนทั้งสิ้น 45 คน ประกอบด้วย
สมาชิกวุฒิสภา 15 คน
1.ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์
2.นายกิตติ วะสีนนท์
3.นายคำนูณ สิทธิสมาน
4.นายจเด็จ อินสว่าง
5.นายเจตน์ ศิรธรานนท์
6.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
7.นายถวิล เปลี่ยนศรี
8.พลเอก นาวิน ดำริกาญจน์
9.พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์
10.นายมหรรณพ เดชวิทักษ์
11.นายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล
12.นายสมชาย แสวงการ
13.นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์
14.พลเอก วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล
15.นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์
พรรคเพื่อไทย 8 คน
1.นายสุทิน คลังแสง
2.นายชลน่าน ศรีแก้ว
3.นายองอาจ วงษ์ประยูร
4.นายสมบัติ ศรีสุรินทร์
5.นายนิรมิต สุจารี
6.นายจตุพร เจริญเชื้อ
7.นายสมคิด เชื้อคง
8.นายสงวน พงษ์มณี
พรรคพลังประชารัฐ 8 คน
1.นายไพบูลย์ นิติตะวัน
2.รองศาสตราจารย์รงค์ บุญสวยขวัญ
3.นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์
4.นายสมศักดิ์ คุณเงิน
5.นางพรรสิริ กุลนาถศิริ
6.นายพรชัย ตระกูลวรานนท์
7.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร
8.นายวิรัช รัตนเศรษฐ
พรรคภูมิใจไทย 4 คน
1.นายศุภชัย ใจสมุทร
2.นายฐิตินันห์ แสงนาค
3.นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ
4.นายคารม พลพรกลาง
พรรคก้าวไกล 3 คน
1.นายรังสิมันต์ โรม
2.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา
3.นายธีรัจชัย พันธุมาศ
พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน
1.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน
2.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ
3.นายชัยชนะ เดชเดโช
พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน
นายนิกร จำนง
พรรคประชาชาติ 1 คน
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ
พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน
นายสุภดิช อากาศฤกษ์
ได้รายชื่อแล้วขั้นตอนเป็นอย่างไรกันต่อ
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ ว่า การประชุมนัดแรกจะเป็นการเลือกตำแหน่ง ประธาน รองประธาน และเลขากรรมาธิการ เพื่อกำหนดการประชุม และกำหนดการดำเนินงาน ควบคู่กับการให้ ส.ส. และ ส.ว. ใช้เวลาแปรญัตติ 15 วัน ส่วนเนื้อหาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 2 มาตรา ถือว่ายังไม่เพียงพอ จึงต้องแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้อง อีก 8 มาตรา มีรายละเอียดดังนี้
ร่างที่ 13.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
ร่างที่ 1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. เฉพาะประเด็นระบบเลือกตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 94 ) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
ร่างที่ 3.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 และยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 94) (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับรัฐสภา พ.ศ.2563 ในข้อที่ 124 เรื่องการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขั้นคณะกรรมาธิการ โดยคาดว่าจะมีการพิจารณา 2 สัปดาห์ จากนั้นจะเชิญผู้แปรญัตติมาพบกรรมาธิการ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน
ไม่ต้องทำประชามติเพราะเนื้อหาของร่าง
เมื่อเสร็จสิ้นคณะกรรมาธิการจะอยู่ในขั้นตอนเตรียมรายงานต่อรัฐสภาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ก่อนจะบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2 โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือน ส.ค. และใช้เวลาพิจารณา 15 วัน จึงจะมีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ ม.256 จากนั้นทิ้งเงื่อนเวลาไว้อีก 15 วัน เพื่อนัดประชุมพิจารณาในวาระ 3 โดยคาดว่าใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 วัน และคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดได้ในปลายเดือน ส.ค. เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที ภายในระยะเวลา 20 วัน เพราะไม่ต้องทำประชามติ เนื่องจากไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง และจะต้องใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน จึงจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
โดยระหว่างที่ดำเนินการเสร็จสิ้นวาระ 3 จะต้องดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้สอดรับกับร่างแก้ไข เพราะต้องไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตาม ม.77 ที่สามารถดำเนินการควบคู่กับการนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ ซึ่งคาดว่าใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน และน่าจะเสร็จสิ้นปลายเดือน มี.ค. หรือต้นเดือน เม.ย. 2565
ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก : Sathit Chuephanngam