เปิดคำเด็ดประชุมร่วมรัฐสภา ตลอด 2 วัน “ส.ส.ปัดเศษ” และ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ถูกใช้มากที่สุด ยกฝ่ายค้านเรื่องความเจ้าบทเจ้ากลอน “ม้าไม้เมืองทรอย” ก็มี “หางเครื่องค่าตัวหลักแสน” ก็มา

แม้ว่าการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่.. พ.ศ.... จำนวน 13 ฉบับ ของวันที่ 23-24 มิ.ย. 2564 จะจบลงไปแล้ว 

ทางทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมคำฮอตฮิตที่สุด ได้ยินปล่อยที่สุด ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา มาฝากกัน คือคำว่า “ระบอบประยุทธ์” “ปิดสวิตช์ ส.ว.” และ “ระบบ MMP” (ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม) เป็นคำที่ถูกฝั่งพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคก้าวไกล นำมาใช้มากที่สุดที่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาอภิปรายเป็นอันต้องพูดถึง

ไม่จบแค่นั้นยังมี “ม้าไม้เมืองทรอย” “หางเครื่องค่าตัวหลักแสน” “ละครสืบทอดอำนาจ” ของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่หยิบยกมาพูดในเรื่องระบบเลือกตั้ง และประเด็นอำนาจของ ส.ว.

...

ส่วนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็มีมาอย่าง “เด็กขี่ม้า” ที่พูดถึงปฐมบทเสถียรภาพรัฐบาลที่สุดท้ายจบลงด้วยการก่อรัฐประหารในปี 2549 

ฝั่งรัฐบาลไม่แพ้ มีคำว่า “เบี้ยหัวแตก” ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หยิบหยกมาพูดถึงเรื่องระบบเลือกตั้งที่ใช้แบบบัตรใบเดียว

ขณะที่นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ก็มีวลี “ทำคลอดรัฐธรรมนูญ” ที่อธิบายกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะ รวม 21 คน ช่วยกันทำรัฐธรรมนูญปี 2560 ขึ้นมา จนมี ลูก 2 คน คือ ส.ว. โดยมีฝากบาดแผลด้วยการให้อำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี และลูกอีกคนคือ ส.ส.

ส่วน ส.ว. ก็จัดเต็ม ขนมาหลายคำ ทั้ง “แก้มัดตราสัง ทำป่าช้าแตก” “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง”
และ “ส.ว.โดนด่าฟรี” ที่นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา นำมาเปรียบเปรยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ม.144 เหมือนเปิดโอกาสให้โกงจนป่าช้าแตก และประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว. ที่ถูกด่าฟรีเพราะคนที่ชี้ขาดเลือกนายกรัฐมนตรี คือ ส.ส.

อย่างไรก็ตาม วาทะเด็ดรวม 2 สภา ที่ถูก ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. หยิบเอามาพูดถึงทุกครั้งของการอภิปรายต้องยกให้กับคำนี้  คือ “ส.ส.ปัดเศษ” ที่สร้างสีสันและเรียกเสียงฮาให้สภามาแล้ว ระหว่างนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จนทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในขณะนั้นถึงกับไปไม่เป็น.