วันที่ 2 ของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังโต้กันแบบหมัดต่อหมัดด้วยเหตุและผล ฝั่ง ส.ส. ยังพร้อมใจโจมตีปมอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ส่วน ส.ว.ไม่ทน ตอกกลับอย่าพูดเอามัน คนชี้ขาดจริงๆ คือ ส.ส.
การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่... พ.ศ. ... จำนวน 13 ฉบับ โดยแบ่งออกเป็นร่างของ พรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ ในวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ได้เริ่มการพิจารณาในเวลา 10.00 น.
โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ได้ทำหน้าที่กล่าวเปิดประชุม ประเดิมการประท้วงด้วยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาตำหนิการทำหน้าที่ของนายพรเพชรที่ไม่ห้ามและตักเตือนสมาชิกในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาจนทำให้เสียเวลา และขอให้ดูแลการประชุมอย่างเคร่งครัด นายพรเพชร จึงชี้แจงว่า ประชาชน และสมาชิกรัฐสภาทราบดีว่าใครที่ใช้วาจาไม่สุภาพ หากไม่เกินเลยก็ต้องปล่อยไป ส่วนเรื่องเวลายืนยันว่าไม่ได้ลำเอียง บริหารจัดการอย่างดี
...
จากนั้น นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ได้อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะ รวม 21 คน ช่วยกันทำคลอดรัฐธรรมนูญ กินเวลากว่า 4 ปี มีลูก 2 คน คนโตคือ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. 250 คน ที่ กรธ.ฝากบาดแผลด้วยการให้อำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี และคนเล็ก คือ ส.ส. 500 คน ที่ทั้งคู่ทะเลาะกันทุกครั้ง หรือพูดแบบชาวบ้านเรียกว่า ตีกันเละ
อ่านเพิ่มเติม
ด้านนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐ ว่าเป็นการส่งเสริมผลประโยชน์ใน “ระบอบประยุทธ์” รวมถึงการเสนอแก้ไข ม.144 และ 185 เปิดช่องให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปแทรกแซงการทำงานของราชการและการจัดสรรงบประมาณ โดยไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. คือการกินรวบเบ็ดเสร็จและมูมมาม ยืนยันพรรคไม่ได้กลัวแพ้เรื่องการแก้ระบบเลือกตั้ง แต่เห็นว่าควรใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP จะสะท้อนเสียงประชาชนได้มากที่สุด ก่อนเรียกร้องให้เพื่อนสมาชิกโหวตคว่ำร่างของพลังประชารัฐ
อ่านเพิ่มเติม
มาที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ได้อภิปรายถึงปัญหาของ ม.272 เรื่อง อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีปัญหา เสนอแนะหากแก้ไม่ได้ ให้กลับไปแก้ที่ ม.256 และฝากให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 8 ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล
อ่านเพิ่มเติม
ถึงคราวเอาคืนของฝั่ง ส.ว. ที่ไม่ขอยอมโดนกระทำอยู่ฝ่ายเดียว นายถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว. ได้ออกมาฉะเดือดแทนเพื่อนสมาชิก ปม ปิดสวิตช์ ส.ว. ขอสภาอย่าพูดเอามัน ประกาศชัด ส.ว. ไม่ได้มีอำนาจชี้ขาดตัวนายกรัฐมนตรี เพราะคนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี คือ ส.ส. จึงเหมือน ส.ว. ถูกโดนด่าฟรี ทั้งที่เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่ถูกเอากระดูกมาแขวนคอ พร้อมอภิปรายรับไม่ได้กับการเสนอแก้ ม.144 ที่เหมือนปล่อยให้เกิดการทุจริต เหมือนแก้มัดตราสัง ปล่อยป่าช้าแตก ส่วนการเสนอแก้ ม.185 เห็นแล้วแสลงใจ และรับไม่ได้ที่จะแก้ไข เพราะเคยถูกย้ายอย่างไม่เป็นธรรมมาก่อน
อ่านเพิ่มเติม
ร้อนแรงต่อเนื่อง เมื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่าการทำรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบ ส่วน ส.ว. ก็เกิดจากการฉีกรัฐธรรมนูญ แถมคนไทยยังถูกสอนมาผิดๆ ว่า ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย แท้จริงแล้วไว้คอยกดทับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก่อนอ้อนขอสมาชิกรัฐสภา โหวตปิดสวิตช์ ส.ว. เพื่อเปิดประตูบานแรกในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชน ที่ไม่ใช่แค่ละครตบตาประชาชนฉากใหญ่ ปิดท้ายด้วยการอวยพรผู้มีอำนาจให้มีอายุยืนจนเห็นความล่มสลาย
อ่านเพิ่มเติม
จากนั้นเวลาประมาณ 15.00 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้ให้พรรคการเมืองที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อภิปรายสรุป หลังเพื่อนสมาชิกทั้งฝั่ง ส.ส.และ ส.ว. อภิปรายครบแล้ว
โดยนายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายสรุปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2-5 ชี้แจงถึงการเสนอแก้ ม.272 ว่าทำไปเพื่อกู้ศักดิ์ศรีของ ส.ว. ให้กลับคืนมา พร้อมถามว่าปัจจุบันทำหน้าที่เป็นกลางหรือไม่ เพราะเรื่องเดิมพันมีสูง
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. เจ้าเดิมดาวสภาวันแรกอดรนทนไม่ไหว เปิดไมค์ประท้วงโต้กลับทันทีว่า “ส.ส. ก็รับใช้พรรคโคตรโกงมา ทำไมไม่พูดบ้าง” ทำให้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกประท้วงสวนกลับขอให้ถอนคำพูด
จากนั้นนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวสรุปร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 8-13 ไม่ขออ้อนใครให้ลงมติ แต่ชี้ชัดรัฐธรรมนูญปี 60 มีปัญหา ทั้งเชิงโครงสร้างและกฎหมายหลายประเด็น อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ในอนาคต พร้อมขอให้รับความจริงว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีและระบบเลือกตั้งมีปัญหา
ปิดท้ายการอภิปรายของวันและการสรุปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคนสุดท้าย ที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ตอนแรกไม่ขอกล่าวสรุปร่างแก้ไข แต่เกิดเปลี่ยนใจโค้งสุดท้าย ขอชี้แจงเรื่องการเสนอแก้ไข ม.144 และ ม.185 ที่ถูกโจมตีมา 2 วันเต็ม ยืนยันเป็นการเสนอด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้คิดจะไปโกงใคร แค่ต้องการทำให้กฎหมายถูกต้องเพราะได้รับร้องเรียนมา พร้อมปรามาสระบบเลือกตั้งแบบ MMP นำมาใช้มีแต่เกิดปัญหา
จากนั้นเวลาประมาณ 16.55 น. ประธานรัฐสภา ได้ให้ที่ประชุมลงคะแนน ด้วยการขานชื่อแบบเปิดเผยทีละคน เพื่อให้เอ่ยรับหลักการหรือไม่รับหลักการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ