“สุทิน” กล่าวสรุปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยัน ทำเพื่อประชาชน ชี้เสนอแก้ อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ เพราะเดิมพันมีสูง ด้านไพบูลย์ แจง เสนอแก้ ม.144 และ 185 ทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ปัดคิดมาโกง

วันที่ 24 มิ.ย. 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ ว่า ขั้นตอนในการสรุปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในร่างที่ 1 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ไม่ประสงค์จะกล่าวสรุป จึงให้ นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวสรุปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2-5 ต่อไป

โดย นายสุทิน กล่าวว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ได้ผ่านกระบวนการคิดเพื่อให้ประชาชนยอมรับ ด้วยการเสนอแก้ไข ม.256 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. แต่กลับถูกปัดตก พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงต้องนำเสนอการแก้รายมาตราเข้ามา ยืนยันว่าจุดหมายปลายทางคือทำเพื่อประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะเรื่องการแก้สิทธิเสรีภาพประชาชน ส่วนการเสนอแก้ไข ม.272 อำนาจสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำไปเพื่อกู้ศักดิ์ศรีของ ส.ว. เพราะต้องถามว่าปัจจุบันทำหน้าที่เป็นกลางหรือไม่ ส่วนเรื่องอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ถือเป็นเรื่อจำเป็นที่ต้องแก้ไข เนื่องจากเดิมพันมีสูง อีกทั้งยังไม่ทราบว่า บทเฉพาะกาลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่เหลืออีก 2 ปี จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกกี่คน

...

นอกจากนี้ นายสุทิน ยังเสนอขอให้มีการปรับแก้ไข ม.144 และ ม.185 ที่เหมือนเปิดช่องให้ทุจริตมากเกินไป พร้อมขอให้เพื่อนสมาชิกร่วมโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยขณะที่ นายสุทิน กำลังอภิปรายเรื่อง อำนาจ ส.ว. นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ได้ประท้วงโต้กลับว่า “ส.ส. ก็รับใช้พรรคโคตรโกงมาทำไมไม่พูดบ้าง” ทำให้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกประท้วงขอให้ถอนคำพูด ประธานรัฐสภาจึงให้อภิปรายแบบอย่าเหมารวมว่าใครดีหรือไม่ดี และให้หลีกเลี่ยงการใช้ข้อความที่กระทบกัน

จากนั้น นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวสรุปร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 8-13 ว่าเป็นการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ขออ้อนใครในเรื่องการลงมติ เพราะทุกคนได้ศึกษามาหมดแล้ว ส่วนพรรคได้ศึกษารัฐธรรมนูญปี 2560 พบว่ายังมีปัญหาและช่องว่าง ในเชิงโครงสร้างและกฎหมายหลายประเด็น จึงเชื่อว่าน่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้อนาคต และต้องยอมรับความเป็นจริงว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีและระบบเลือกตั้งมีปัญหา ที่ต้องมีการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว

ขณะที่ประธานรัฐสภา ได้แจ้งว่านายไพบูลย์ประสงค์จะกลับมาสรุปร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 อีกครั้ง โดยนายไพบูลย์ ระบุว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเสนอสงวนในจุดร่วมและจุดต่าง เพราะส่วนตัวเคยเป็นทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ส่วนการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้มีบัตร 2 บัตร เพื่อให้สิทธิกับประชาชนมากขึ้น และมองว่าการนำระบบจัดสรรปันส่วน หรือ MMP หากนำเข้ามาจะทำให้มีปัญหา ส่วนการเสนอแก้ไข ม.144 และ ม.185 เป็นการเสนอด้วยความบริสุทธิ์ เนื่องจากได้รับแจ้งมาว่าไม่เป็นธรรม ยืนยันไม่ได้คิดจะไปโกงใคร แต่ต้องการทำให้กฎหมายถูกต้อง.