“สาทิตย์” ชี้ ทางแก้คลายปมปัญหา ม.272 อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี คือแก้ ม.256 ไม่ให้มติมีผลผูกพันสมาชิกทั้งรัฐสภา อัดพลังประชารัฐแก้ ม.144 และ 185 อาจขัดข้อบังคับ
วันที่ 24 มิ.ย. 2564 ที่อาคารรัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ พ.ศ... ว่า วันนี้ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 89 ปี วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นวันที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้และแนวคิด โดยปัจจุบันมีประชาธิปไตยหลายรูปแบบเหมือนทั่วโลก เช่น ประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบสุดขั้ว แบบอนุรักษ์นิยม และแบบปฏิรูป ซึ่งเหมือนกับแนวคิดรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวยอมรับว่าต้องมีการแก้ไข ขณะที่ประเทศไทยผ่านมา 89 ปี มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ เฉลี่ย 4 ปีกว่าต่อ 1 ฉบับ และมีการแก้ไขสำเร็จมาแล้ว 22 ครั้ง จึงไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาเพราะเป็นเรื่องธรรมดา
เพราะส่วนตัวมองว่ากลไกเรื่องการป้องกันรัฐประหาร มีความน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันกลไกดังกล่าวไม่ใช่เป็นทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีตอีกต่อไป เช่นเดียวกับเรื่องยุทธศาสต์ชาติที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน
ขณะที่เรื่องระบบการเลือกตั้ง พบว่าตั้งแต่ ปี 2540 ที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง ได้ใช้ถึง 4 ระบบ จึงไม่คิดว่าการแก้ไขเป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ม.272 เรื่อง อำนาจสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะหากยังติดสินใจหรือแก้ไขไม่ได้ มองว่าทางออกที่สำคัญคือต้องไปแก้ที่ ม.256 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากมีการแก้ไข ม.256 มติเหล่านั้นไม่ผูกกับสัดส่วนของ ส.ว. และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ทั้งของฝ่ายค้านและรัฐบาล และหากในอนาคตมีผู้เสนอให้แก้ไข ม.272 ก็จะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการรับหรือไม่รับเพื่อตนเองอีกต่อไป ซึ่งมีอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 8 ฉบับ ของพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา
ขณะที่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ พบว่า ม.144 และ ม.185 เกิดกระแสอย่างกว้างขวางจากทั้งภายนอกและภายในสภา รวมถึงผู้นำรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วย เพราะอาจขัดต่อข้อบังคับของรัฐสภาหรือไม่ จึงฝากเสนอทางออกให้สมาชิกรัฐสภาด้วยการใช้ร่างทั้ง 8 ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลแทน.
...