“ปดิพัทธ์” อัด พลังประชารัฐ เสนอแก้รัฐธรรมนูญ ม.44 และ 185 ส่งเสริมผลประโยชน์ ระบอบประยุทธ์ เรียกร้องสภาโหวตคว่ำร่าง ชี้ระบบเลือกตั้ง MMP ตอบโจทย์ประเทศ ปิดจุดอ่อนปี 40 ได้
วันที่ 24 มิ.ย. 2564 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล อภิปรายให้ความเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของระบบเลือกตั้ง โดยระบุว่า ก่อนการอภิปรายอยากชวนสภาแห่งนี้และประชาชนได้จดจำเช้าวันนี้ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็น “วันชาติ” ที่แท้จริง ถ้าไม่มีเหตุการณ์ในครั้งนั้น จะไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งในวันนี้ แม้ว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังยาก แต่ต้องไปต่อ
ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ มองว่าไม่ได้เพื่อแก้ปัญหาทางโครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยว แต่กลับยิ่งส่งเสริมผลประโยชน์ของรัฐบาลใน “ระบอบประยุทธ์” เสนอการแก้ไข ม.144 และ 185 เปิดช่องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. และ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. เข้าไปแทรกแซงการทำงานของราชการและการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. จึงเหมือนเป็นการกินรวบเบ็ดเสร็จและมูมมามที่ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกลับถูกตีตก ด้วยสารพัดวิธี
ทั้งนี้ยืนยันว่า พรรคก้าวไกล ไม่ได้กลัวแพ้หากมีการแก้ระบบเลือกตั้ง เพราะทางพรรครู้ดีว่าการเข้าสู่สนามเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญ 60 ทั้งที่รู้ว่าไม่เป็นธรรม และถูกเขียนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แต่ก็ตัดสินใจลงแข่งขัน จนได้รับวางใจจากประชาชน จึงมองว่า การออกแบบระบบเลือกตั้งไม่ควรเริ่มคุยกันเรื่องเทคนิค แต่ต้องเริ่มคิดอยู่บนหลักการใหญ่ๆ 3 ด้านด้วยกัน คือ
...
1. สะท้อนเสียงของประชาชนได้มากที่สุด
2. สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมของพรรคการเมืองทุกพรรค เปิดโอกาสให้เกิดการริเริ่มและพัฒนาพรรคการเมือง
3. สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันทางการเมืองในระยะยาว
ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยว่าระบบการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 40 ดีที่สุดเท่าที่ผ่านมา แต่มีจุดอ่อนคือ จำนวน ส.ส. ที่ได้ของแต่ละพรรค ไม่สอดคล้องกับผลคะแนนเสียงของประชาชน โดยการเลือกตั้งในปี 2548 พรรคอันดับหนึ่งได้คะแนนเสียง 55.49% แต่ได้จำนวน ส.ส. 77.50% เกินมา 22% ขณะที่พรรคอันดับสองได้คะแนนเสียง 24.95% แต่ได้จำนวน ส.ส.เพียง 17.50% น้อยกว่าที่ควรจะได้ 7.45%
นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาของการคิดคำนวณคะแนนไม่ได้สัดส่วนที่ถูกต้อง และยังมีปัญหาตามมาในการตรวจสอบถ่วงดุล มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ และ ส.ว.เลือกตั้ง จนเป็นข้ออ้างของการเกิดรัฐประหาร ทางพรรคจึงเสนอระบบการเลือกตั้ง แบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP ที่ใช้ในหลายประเทศ ที่เป็นข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สะท้อนเสียงของประชาชนได้มากที่สุด ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมของพรรคการเมืองทุกพรรค ปิดจุดอ่อนได้ และตอบโจทย์การเมืองไทยในปัจจุบัน พร้อมขอเรียกร้องให้รัฐสภาปฏิเสธร่างของพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่อเจตนากินรวบสภานี้ออกไป.