“ไพบูลย์ นิติตะวัน” เสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ เป็นคนแรกของการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา หวังเป็นจุดเริ่มต้นสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง โต้ขวางแก้รัฐธรรมนูญ
วันที่ 23 มิ.ย. 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการในเวลา 10.47 น. เพื่อเข้าสู่วาระการพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... รวม 13 ฉบับ โดยขอให้ใช้เวลาเป็นประโยชน์ เชื่อว่าจะไม่มีการประท้วงมากมาย และเนื่องจากเป็นเรื่องในทำนองเดียวกันจึงขอให้นำมาพิจารณาไปพร้อมๆ กัน และเมื่อเสนอเสร็จจะต่อด้วยการอภิปราย
จากนั้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้ควบคุมเสียงฝ่ายรัฐบาล กล่าวว่า จากการตกลงของวิป 3 ฝ่าย แบ่งเวลาการให้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 6 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 6 ชั่วโมง และประธาน 3 ชั่วโมง รวมแล้ว 21 ชั่วโมง ก่อนจะปิดการอภิปรายในเวลา 16.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. ก่อนจะเริ่มลงมติ โดยเผื่อเวลาไว้ประมาณ 6-7 ชั่วโมง ในการลงมติ นับคะแนน และตั้งกรรมาธิการ
...
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ควบคุมเสียงฝ่ายค้าน กล่าวเสริมว่า วันนี้อาจต้องเลื่อนเวลาเริ่มและจบ เนื่องจากเริ่มช้าไปราว 1 ชั่วโมง 20 นาที และรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญ ต้องมีสาระครบถ้วน หากไม่จบตามเวลาต้องขอยืดหยุ่นตามความเหมาะสมและความเป็นไปได้ โดยจะหารือ 3 ฝ่ายก่อนรายงานอีกครั้ง ทางด้าน นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ในฐานะผู้ควบคุมเสียง ส.ว. ระบุเพิ่มเติมเกรงว่าการลงมติพรุ่งนี้จะต้องยืดหยุ่นไป แต่ก็ขอให้ทุกฝ่ายรักษาเวลา 6 ชั่วโมงโดยเคร่งครัด
ต่อมาเวลาประมาณ 11.00 น. เริ่มเสนอฉบับแรก ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 มาตรา 29 มาตรา 41 มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 94 มาตรา 144 มาตรา 185 และมาตรา 270) โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้ยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคพลังประชารัฐเป็นคนแรก ว่า พรรคพลังประชารัฐตั้งใจแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงการกล่าวหาว่าพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว. ขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญไม่จริง หากประเด็นใดแก้ไขเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่สร้างความขัดแย้ง หรือเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินทำประชามติ ก็จะช่วยสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญให้ลุล่วงได้ เป็นการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐเสนอมี 5 ประเด็น 13 มาตรา ได้แก่
1. การแก้ไขมาตรา 29 มาตรา 41 และมาตรา 45 เพื่อเพิ่มการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน อาทิ สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การประกันตัว การให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐในการฟ้องหน่วยงานรัฐ
2. การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้แก่ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน พรรคใดที่ส่ง ส.ส.เขตไม่น้อยกว่า 100 คน ให้มีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ พรรคใดจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องได้คะแนนบัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 1% ป้องกันปัญหาการเป็น ส.ส.ปัดเศษ
3. การแก้ไขมาตรา 144 ให้ตัดบทลงโทษ ส.ส., ส.ว. และกรรมาธิการที่แทรกแซงการแปรญัตติงบประมาณไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม แต่เมื่อมี ส.ว.ทักท้วงว่าการแก้ไขดังกล่าวทำให้หลักการตรวจสอบงบประมาณที่รัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนไว้อย่างเข้มข้นสูญเสียไป จึงเห็นด้วยและรับปากว่า หากรับหลักการแก้ไขวาระ 1 แล้ว การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ จะเสนอแก้ไขมาตรา 144 ให้คงหลักการเข้มข้นรัฐธรรมนูญปี 2560 ไว้ตามเดิม ให้สบายใจได้ แต่ขอหารือว่าควรพิจารณาถึงเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณที่ได้รับผลกระทบจากมาตรานี้จะหาวิธีผ่อนคลายอย่างไร เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณไม่กล้ามาเป็นกรรมาธิการงบประมาณ เพราะกลัวเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงตามมาตรา 144
4. การแก้ไขมาตรา 185 เรื่องการยกเลิกการห้าม ส.ส., ส.ว. เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการที่ ส.ว. เป็นห่วงเช่นกันว่าจะทำลายหลักการการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของข้าราชการนั้น ก็รับปากว่า หากรับหลักการวาระ 1 จะไปผลักดันชั้นกรรมาธิการให้คงหลักการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานข้าราชการไว้ตามเดิม แต่ขอเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนขึ้น โดยยกเว้นกรณี ส.ส., ส.ว.ไปติดต่อหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ให้ถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานหน่วยราชการ
5. ให้ยกเลิกมาตรา 270 ขอเปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภาในการเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ มาเป็นให้อำนาจ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันติดตาม เสนอแนะเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เรื่องนี้ ส.ว.เป็นผู้เสนอเอง อยากให้ ส.ส.มาร่วมติดตามการปฏิรูปประเทศ
“พรรคพลังประชารัฐหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา หากผ่อนคลายลงได้แล้ว จะทำให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันดูแลทุกข์สุขและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นงานหลักของสมาชิกรัฐสภาในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย” ต่อจากนั้นเป็นการเสนอร่างที่ 2 นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย.