“ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ชี้ รัฐบาลเร่งรัดนำญัตติแก้รัฐธรรมนูญเข้าสภา เชื่อ เอื้อประโยชน์พรรคการเมืองใหญ่ ในการเลือกตั้ง มากกว่าทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน

วันที่ 11 มิ.ย. นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ แกนนำกลุ่ม Re-solution กล่าวถึง กรณีที่รัฐสภา เตรียมรวบรัดพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ จนทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า การที่ต้องการนำรัฐธรรมนูญกลับมาแก้ไขอย่างทันด่วนนั้นมีเจตนาอะไรแอบแฝงหรือไม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชน เพื่อเข้าไปพิจารณาในสภา แต่กลับถูก ส.ว. และ ส.ส. ที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบาลปัดตกอย่างไร้เยื่อใย

“หลายๆ ฝ่าย ทั้งภาคประชาชน พรรคร่วมฝ่ายค้าน และรวมไปถึง ส.ส. บางคนในพรรคร่วมรัฐบาลเอง น่าจะเห็นร่วมกันแล้วว่า จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราน่าจะเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบังคับใช้อยู่เพื่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลหลังรัฐประหาร 57 นับตั้งแต่ตอนเริ่มต้นก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะคลอดด้วยซ้ำ มีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี เพราะออกไปรณรงค์โหวตโน และบรรยากาศประชามติก็อยู่ท่ามกลางอำนาจเผด็จการ ตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากที่มาไม่ชอบธรรมแล้ว เนื้อหาก็ไม่ชอบธรรมด้วย มีกลไกมากมายในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่สร้างมาเพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. การที่เราจะสร้างศรัทธาและพัฒนาสังคมประชาธิปไตยที่คณะรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจได้ทำลายลงไป จึงมีประเด็นมากมายที่จำเป็นต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งเรื่องวุฒิสภา เรื่ององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และผลพวงการรัฐประหาร” นายฟูอาดี้ ระบุ

...



นายฟูอาดี้ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพอรัฐบาลมีปัญหาทั้งเรื่องการแก้ปัญหาโควิดหรือเรื่องความช่วยเหลือเร่งด่วนต่อปัญหาเศรษฐกิจที่ด้อยประสิทธิภาพ ทำให้เริ่มมีสัญญาณและความเคลื่อนไหวว่า รัฐบาลอาจจะมีอายุไม่ครบเทอม นักการเมืองในรัฐสภาจึงพยายามรวบรัดตัดตอน รีบเร่งให้เกิดการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว แต่เรื่องที่เสนอแก้ไขกลับไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประชาชนเรียกร้อง ที่เป็นแก่นของปัญหา หรือเป็นเรื่องที่มีนัยยะสำคัญต่อการพัฒนาสังคมประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องผิวเผิน ตัวอย่างเช่น เรื่องระบบเลือกตั้ง และเรื่องการเพิ่มสิทธิ์คุ้มครองทางอาญา ที่ถึงแม้อาจจะมองเป็นเรื่องเชิญบวก แต่ก็ไม่ได้แก้ถึงรากของปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ซ้ำร้ายร่างที่พยายามผลักดันแบบลักหลับนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่สอดแทรกเข้ามาที่เป็นปัญหาอย่างมาก และที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคใหญ่ ก่อนการเลือกตั้งเสียมากกว่า เช่น เรื่องการเพิ่มอำนาจของ ส.ส. และ ส.ว. ที่สามารถเข้าไปติดต่อเดินเรื่องกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบโครงการของหน่วยงานของรัฐได้อย่างไร้ขอบเขตมากขึ้น จากประเด็นที่ถูกนำเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็วทันด่วนนั้น อาจมองได้ว่าเป็นไปเพื่อการเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และอาจจะเป็นการเกี้ยเซียะกันเพื่อให้สมประโยชน์กับตัวเองและกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มมากที่สุด แต่ประชาชนกลับไม่ได้อะไรที่สำคัญเลย

สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องกันมา เช่นปัญหาเรื่องความไม่สมดุลของอำนาจกับที่มาของ ส.ว. การมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ อำนาจที่ล้นฟ้าของศาลรัฐธรรมนูญ หรือการเปิดโอกาสให้ยุทธศาสตร์ชาติกลายเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม กลับถูกมองข้ามอย่างไร้ซึ่งความเข้าใจและเคารพต่อสังคมประชาธิปไตยที่เท่าเทียม

นายฟูอาดี้ กล่าวต่อไปว่า “ที่ผ่านมาหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน ได้ความพยายามส่งเสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อที่จะให้เกิดสังคมที่ประชาชนรู้สึกถึงความเท่าเทียม และที่ส่วนร่วมต่อการพัฒนาบ้านเมือง แต่เมื่อเรื่องได้ส่งเข้าไปแก้ไขในรัฐสภากลับถูกปัดตกโดย ส.ว. ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ รวมทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งที่ไม่แสดงตัว และก่อนที่จะลงมติปัดตกก็ประวิงโดยการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาแก้ไข ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำเลยด้วยซ้ำ แต่ประชาชนคงได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่า เสียงเรียกจากประชาชนไม่ได้รับการพิจารณา หรือความจริงใจมากพอจากสภาทั้งสอง แต่เมื่อพรรครัฐบาลเอง อยากแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องระบบเลือกตั้งขึ้นมา ก็มีการเร่งทำทันที จนเกิดคำถามที่รัฐบาลควรชี้แจงคำตอบให้กับภาคประชาชนว่า การตัดสินใจนี้เป็นไปเพื่ออะไร หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่”

“หากปัญหาในระดับโครงสร้างที่กระทบกับภาคประชาชนโดยตรงยังไม่ถูกพิจารณาและเร่งแก้ไข แต่มุ่งเน้นแต่จะเร่งแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง และเพิ่มอำนาจให้กับตนเอง รัฐบาลคงต้องออกมาชี้แจงอย่างเร่งด่วนว่าการรวบรัดและเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งในครั้งนี้ หากไม่เป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มแล้ว การดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเกิดผลประโยชน์แก่ประชาชนในมิติใดบ้าง อย่าลืมว่าผลประโยชน์ของภาคประชาชนย่อมมาก่อนกลุ่มคนไม่กี่คนเสมอ” นายฟูอาดี้ กล่าว.